บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

กระจกสำหรับบ้านพักอาศัย

22
พ.ย.
2560

 

กระจกสำหรับบ้านพักอาศัย

ภาพประกอบ : www.idinarchitects.com

 

กระจกเป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญและใช้ในส่วนต่างๆ ของบ้านทั้งผนัง หลังคา ช่องเปิดทั้งประตูและหน้าต่าง ส่วนของอาคารที่นิยมใช้กระจกมากที่สุดคือหน้าต่าง เนื่องจากมีลักษณะโปร่งแสงมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้ชัดเจน ได้รับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้อย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นช่องทางที่รับความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ภายในอาคารได้มากที่สุดทั้งวิธีการนำความร้อนและการแผ่รังสีความร้อนด้วยเช่นกัน หน้าต่างกระจกมีการออกแบบที่หลากหลายและมีความสวยงาม คุณสมบัติของกระจกจึงต้องมีการพัฒนาให้สามารถป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในอาคารเพื่อลดภาระในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ กระจกที่นิยมใช้ในอาคารพักอาศัยในประเทศไทยมีหลายประเภทซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปดังนี้

1. กระจกใส (Clear Glass) มีความโปร่งใสและโปร่งแสงสูง 

ทำให้แสงแดดและแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคารได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะนำความร้อนเข้ามาภายในอาคารสูงเช่นกัน โดยความร้อนจากภายนอกสามารถผ่านทะลุเข้ามาได้มากถึง 83% และมีแสงสว่างที่ตามองเห็นทะลุผ่านเข้ามาได้ 88%

2. กระจกสีตัดแสง (Tinted Glass) คือกระจกที่มีการผสมออกไซด์ของโลหะลงในเนื้อกระจกทำให้เกิดเป็นกระจกสีต่างๆ มีความสวยงาม กระจกจะช่วยลดแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในอาคารทำให้ความร้อนเข้ามาภายในอาคารลดลงซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานในการปรับอากาศและยังช่วยให้เกิดความสบายตาต่อผู้ใช้อาคาร

3. กระจกเคลือบผิว หรือกระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass) เป็นกระจกที่เคลือบผิวด้วยออกไซด์ของโลหะ กระจกประเภทนี้จะมีความเงามันวาวเป็นพิเศษ ประกอบด้วยกระจก 2 ชนิด คือ

กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Reflective Glass) คือกระจกที่เคลือบผิวด้วยโลหะออกไซด์ที่มีค่าการสะท้อนแสงสูงจึงทำให้มีความโปร่งแสงน้อย คนภายนอกอาคารจะมองเข้ามาภายในอาคารได้ลำบากแต่คนที่อยู่ภายในจะมองออกไปภายนอกได้ดีกว่า มีหลากหลายสีขึ้นอยู่กับโลหะที่ใช้เคลือบผิว สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ที่จะผ่านเข้าสู่อาคารได้ประมาณ 30% และสามารถลดแสงที่เข้าสู่อาคารให้นุ่มนวลสบายตา   

กระจกแผ่รังสีต่ำ (Low-E Glass) คือกระจกที่มีโลหะเงินบริสุทธิ์เป็นส่วนประกอบสำคัญในสารเคลือบผิวซึ่งจะช่วยให้ถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่า ลดปัญหาเรื่องกระจกแตกร้าวเนื่องจากอุณภูมิผิวกระจกภายนอกและภายในที่มีค่าแตกต่างกันมากเกินไปและยอมให้แสงผ่านมากกว่ากระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ 

 

กระจกสำหรับบ้านพักอาศัย

ภาพประกอบ : www.commons.wikimedia.org

 

4. กระจกฉนวน (Insulation Glass) คือกระจกที่ประกอบด้วยกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน และมีช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกที่ซึ่งบรรจุสารดูดความชื้นและฉนวน เช่น อากาศแห้ง หรือก๊าซเฉื่อยไว้ภายใน กระจกประเภทนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ 

กระจกฮีตมิเรอร์ (Heat Mirror Glass) เป็นกระจกที่ประกอบด้วยกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไป โดยกระจกที่อยู่ด้านนอกอาคารจะเคลือบสารที่ทำให้เกิดสภาพการแผ่รังสีที่ต่ำ มีช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกที่บรรจุอากาศแห้งไว้เป็นฉนวนกันความร้อน สามารถสะท้อนความร้อนได้ 80% และสามารถป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ประมาณ 95%-98% 

 

กระจกสำหรับบ้านพักอาศัย

ภาพประกอบ : www.mastersconstruction.com

 

• กระจกฮีตสต๊อป (Heat Stop Glass) เป็นกระจกที่มีก๊าซอาร์กอนบรรจุในช่องว่างแทน จึงสะท้อนความร้อนได้มากกว่ากระจกฮีตมิเรอร์ เน้นการใช้งานในอาคารที่ต้องการประหยัดการใช้พลังงาน เนื่องจากกระจกยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ยอมให้ความร้อนผ่านกระจกเข้ามาน้อยมาก จากคุณสมบัติต่างๆ ของระจกที่กล่าวมาข้างต้น การเลือกใช้กระจกให้ถูกประเภทจึงมีความสำคัญในการช่วยป้องกันความร้อนให้กับบ้านที่พักอาศัยได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาวะน่าสบาย  ไม่ร้อนอบอ้าว  และช่วยประหยัดพลังงานของเครื่องปรับอากาศ แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน เนื่องจากกระจกที่มีการเคลือบผิวหรือกระจกสองชั้นก็จะมีราคาสูงกว่ากระจกใสธรรมดา ดังนั้นจึงต้องมีการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกับมูลค่าของพลังงานที่ประหยัดได้จากการลดลงของภาระการทำความเย็นว่าคุ้มค่าหรือไม่ 

 

กระจกสำหรับบ้านพักอาศัย

ภาพประกอบ : www.banidea.com

 

สำหรับการดูแลและบำรุงรักษากระจกนั้น ไม่ควรให้ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศกระทบผิวหน้ากระจกโดยตรงเพราะจะทำให้อุณหภูมิของผิวกระจกภายนอกและภายในอาคารแตกต่างกันมาก จะทำให้กระจกแตกร้าวได้ง่าย ไม่ควรทาสี ติดกระดาษ หรือติดผ้าม่านหนาๆ บริเวณกระจกเพราะจะทำให้เกิดการสะสมความร้อนในเนื้อกระจกและทำให้กระจกแตกร้าวได้ง่าย ควรทำความสะอาดกระจกทุก 2 เดือน และควรตรวจสอบรอยรั่วตามขอบกระจกหน้าต่างอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการรั่วซึมของอากาศจากภายนอกเข้ามาซึ่งจะเพิ่มภาระในการปรับอากาศ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกใช้กระจกหน้าต่างประเภทใด หากต้องติดตั้งในทิศทางที่รับแสงอาทิตย์โดยตรงก็จะเป็นช่องทางรับความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านในปริมาณมาก ดังนั้นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดปัญหานี้ได้คือการบังแดดให้กับหน้าต่างกระจกนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มีชายคาที่ยื่นยาว ติดตั้งอุปกรณ์บังแดดให้กับหน้าต่างหรือการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา 

 

 

โครงการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

 

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154