บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

5 วิธีดูแลบ้านให้แข็งแรงทนทาน และปลอดภัยกับผู้อาศัย

13
ก.ย.
2565

 

 

เมื่อบ้านสร้างไว้นานๆ รายการซ่อมแซมก็เริ่มทยอยให้เจ้าของบ้านหันมาใส่ใจดูแลก่อนที่จะพังบานปลายกลายเป็นปัญหาแบบเสียน้อยเสียยาก แต่แท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องรอให้บ้านส่งสัญญาณเตือนก็ได้ สามารถดูแลป้องกันความเสียหายได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าอยู่อาศัย เพื่อให้บ้านมีความแข็งแรงทนทาน มีชีวิตชีวา ไม่เกิดความเสียหายจนเป็นอันตรายกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งวันนี้ HBA นำเอาวิธีดูแลบ้านอย่างไรให้แข็งแรงปลอดภัยมาฝากจะมีวิธีใดบ้างมาดูกัน

 

5 วิธีดูแลบ้านให้แข็งแรงทนทาน และปลอดภัยกับผู้อาศัย

 

1. หมั่นตรวจหลังคารั่วซึม

การเริ่มดูแลบ้านที่หลังคาจะทำให้เห็นภาพชัดที่สุด เพราะหากเกิดรอยรั่วซึมจากหลังคา นั่นแปลว่าข้าวของทรัพย์สินในบ้านก็จะได้รับความเสียหายไปตามลำดับ โดยจุดที่เกิดการรั่วซึมของหลังคา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากโครงสร้าง เช่น

  • ความลาดชันไม่พอทำให้เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลย้อนกลับเข้าไปใต้แผ่นกระเบื้องหลังคา
  • การมุงหลังคาไม่สนิท
  • การติดตั้งรางน้ำที่ขนาดไม่สัมพันธ์กับพื้นที่หลังคา
  • การมีใบไม้ เศษกิ่งไม้ ร่วงกองอยู่บนหลังคาสะสมเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก

ปัญหาเหล่านี้เจ้าของบ้านสามารถดูแล ป้องกัน และแก้ไขได้ด้วยตนเอง กับอีกส่วนที่มีระดับความยาก ต้องมีช่างที่เชี่ยวชาญจากบริษัทรับสร้างบ้านมาช่วยดูแลจะทำให้จบปัญหาไปได้

 

2. ดูแลระบบไฟฟ้าและปลั๊กไฟอย่างสม่ำเสมอ

โดยปกติทั่วไปสายไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 7-8 ปี เมื่อพบว่าฉนวนที่หุ้มสายไฟเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเริ่มกรอบแตก ก็สมควรที่จะเปลี่ยนสายไฟใหม่ โดยไม่ต้องรอให้หมดอายุก่อน ซึ่งในแต่ละจุดการซ่อมบำรุงดูแลจะไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังควรตรวจเช็กอุปกรณ์ว่าใช้สายดินหรือไม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้า โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทจะมีปลายด้านหนึ่งต่อลงดิน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจะต่อเข้ากับวัตถุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ดังนั้นจึงควรมีอุปกรณ์ป้องกันการลัดวงจร เช่น ฟิวส์ หรือเบรกเกอร์ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ หรือเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานได้

 

3. ดูแลระบบน้ำประปา

ถือเป็นระบบพื้นฐานที่มีความสำคัญรองจากไฟฟ้า เพราะแม้เราจะระวังหลังคาไม่ให้รั่วซึมได้ แต่ก็ยังมีระบบน้ำประปาหากรั่วซึมขึ้นมาได้ก็พร้อมสร้างความเสียหายกับบ้านได้

สิ่งที่ต้องระวังคือ จุดข้อต่อต่างๆ หัวก๊อก น้ำหยด ซึ่งการเลือกผลิตภัณฑ์ต้องสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น ท่อนำส่ง ที่สามารถรองรับแรงดันจากปั๊มได้ เพราะหากมีการรั่วไหลแตกร้าวซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ชั้นสองของบ้าน นั่นหมายถึงการรื้อฝ้า ซ่อมแซมเสียเวลา รวมถึงเป็นการสะสมความชื้นภายในบ้าน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

การป้องกันปัญหานี้เจ้าของบ้านสามารถทำได้เบื้องต้นโดยการสังเกตจุดน้ำหยด ปิดก๊อกให้สนิท หรือสังเกตบิลค่าน้ำ หากมีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ ให้ตั้งข้อสันนิษฐานการรั่วไหลและติดต่อผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างจากบริษัทรับสร้างบ้านเข้ามาช่วยตรวจสอบและแก้ปัญหาให้

 

 

4. พื้นกระเบื้องต้องไม่มีน้ำขัง

ปัญหาเรื่องกระเบื้องลื่นเป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ ถึงแม้บางบ้านจะเลือกชนิดความหนืดของกระเบื้องมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายจากการลื่นล้มได้ จุดที่ควรระวังและมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ คือ ห้องน้ำ ห้องครัว ไปจนถึงพื้นที่สวน ลานซักล้าง ที่มีความชื้นหรือมีน้ำผ่านตลอด รวมถึงจุดที่มีน้ำขังซึ่งอาจทำให้เกิดตะไคร่และทำให้พื้นลื่น นอกจากนี้ตำแหน่งที่มีน้ำขังหากละเลยเป็นเวลานานอาจส่งผลโครงสร้าง พื้นทรุด ไปจนถึงผนังขึ้นราได้

 

5. หมั่นรักษาความสะอาด

เป็นการดูแลบ้านโดยพื้นฐานทั่วไป รวมถึงทุกบริเวณทั้งภายในบ้าน ภายนอกบ้าน และบริเวณสวน หากมีการลงต้นไม้ใหญ่ไว้ ควรเก็บกวาดเศษใบไม้ รักษาสวนให้โล่ง หากเข้าช่วงพายุฝนตกหนัก อุบัติเหตุจากการล้มหรือกิ่งไม้หล่นใส่บ้าน ก็มีโอกาสสร้างความเสียหายได้มากกว่าบ้านที่มีต้นไม้เล็กๆ

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือรากของต้นไม้ หากปลูกโดยไม่ศึกษาระยะที่ควรห่างจากบ้าน รากต่างๆ ก็จะส่งผลต่อโครงสร้างของบ้านได้ ดังนั้นการเก็บกวาดสวนให้โล่งอยู่ตลอด ก็จะทำให้เราสังเกตเห็นราก และดำเนินการแก้ไขเพื่อความปลอดภัยในอนาคตได้เช่นกัน

 

หลายครั้งที่เจ้าของบ้านอาจละเลยดูแลบ้านไป ด้วยเพราะความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ตลอดจนภารกิจในชีวิตที่แม้แต่ดูแลตัวเองยังแทบไม่มีเวลา แต่หากมองอีกมุมเมื่อตัดสินใจสร้างบ้านแล้ว ลงทุนจ่ายเงินก้อนโตไปแล้ว แน่นอนว่าคุณย่อมคาดหวังให้บ้านนั้นอยู่อาศัยได้ยาวนาน และปลอดภัย เป็นที่คุ้มฟ้าคุ้มฝนได้ทุกเวลา การหมั่นดูแลตรวจสอบจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม ดีกว่าปล่อยปัญหาเกิดแล้วมาพบเมื่อบานปลาย คุณอาจต้องจ่ายค่าความละเลยแพงกว่าปกติได้

 

สนับสนุนบทความโดย

บริษัท มีนบุรีรับสร้างบ้าน คุณภาพ จำกัด

ที่อยู่ : เลขที่ 75/11 ซ.ร่มเกล้า ถ.ร่มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510

โทรศัพท์ : 0 2919 4653

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.bannmean.com 

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154