บ้าน เป็นรากฐานสำคัญของการใช้ชีวิต เจ้าของบ้านที่ได้มัส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการสร้างบ้าน จะมีความผูกพันและรู้สึกเหมือนได้ปลูกสร้างรากฐานสำคัญของชีวิตตัวเองไปด้วย แต่รากฐานนั้นจะมั่นคงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจและมาตรฐานในการปลูกสร้างบ้านแต่ละขั้นตอน ดังนั้นมาดูกันว่ากว่าจะได้บ้านสักหลัง หรือสร้างรากฐานสำคัญของชีวิตนี้ให้เกิดขึ้นมาได้จนสำเร็จ ต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
1. เตรียมความพร้อมก่อนสร้างบ้าน
ก่อนเริ่มสร้างบ้าน ขั้นตอนสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำก่อนคือ การเตรียมพร้อมก่อนสร้าง ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
• เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งการตรวจสอบระดับดิน การถมดินกรณีที่ที่ดินแปลงนั้นอยู่ในระดับต่ำเกินไป หรือมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ หน้าดินไม่เสมอกัน รวมถึงการตรวจสอบความแข็งของดิน เพื่อให้เหมาะกับการสร้างบ้าน ไม่เกิดปัญหาการทรุดภายหลัง
• การขนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการก่อสร้าง โดยต้องมีพื้นที่รองรับ และเส้นทางให้รถเข้าออกได้สะดวก
• การวางแผนสถานที่พักคนงาน เพราะการสร้างบ้านต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กรณีที่คนงานไม่ได้มีที่พักอาศัยใกล้พื้นที่ก่อสร้างก็ต้องมีสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงาน เพื่อความสะดวกและเป็นสัดส่วน
• เตรียมพร้อมด้านการขอน้ำ และไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อรองรับงานก่อสร้าง และการพักอาศัยชั่วคราวของคนงาน ทำให้งานสร้างดำเนินได้อย่างไม่สะดุด
• วางผังอาคารสิ่งปลูกสร้าง ตำแหน่งลงเสาเข็ม และระยะร่นตามเทศบัญญัติ โดยขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนลงหลักปักฐานสร้างบ้าน นอกจากนี้หากที่ดินที่สร้างมีต้นไม้ใหญ่และต้องการเก็บไว้ ก็ต้องคำนึงถึงการปรับตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยงแนวต้นไม้ด้วย
2. การเตรียมงานด้านขุดเจาะเสาเข็ม
การดำเนินการขุดเจาะเสาเข็มนั้นต้องเป็นไปตามผังตำแหน่งที่วางไว้ ในขั้นตอนนี้ทีมงานเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมจะดูกำลังรับน้ำหนักเสาเข็มตอก หรือความลึกของเสาเข็มเจาะ ทั้งนี้เสาเข็มตอกทุกต้นจะต้องมีผู้ควบคุมและตรวจสอบความแข็งแรงให้ตรงตามหลักวิศวกร เพื่อให้งานสร้างมีมาตรฐาน
3. ขั้นตอนงานฐานรากและโครงสร้าง
3.1 การวางฐานราก ต้องมีการเตรียมพร้อมส่วนต่างๆ คือ
• การขุดหลุมตามขนาดที่กำหนด และตัดหัวเสาเข็มเพื่อเตรียมงานฐานราก
• ทำการตั้งไม้แบบและค้ำยัน
• เตรียมส่วนของหนุนลูกปูน
• ทำการผูกเหล็กเสริมส่วนฐานราก และตอม่อ
• ดำเนินการเทคอนกรีต
3.2 งานขึ้นโครงสร้างตัวบ้านและงานสุขาภิบาล
• ดำเนินการขึ้นงานโครงสร้างส่วนของชั้น 1 ตามแบบและให้มีมาตรฐาน พร้อมขุดดินเพื่อเตรียมส่วนของระบบสุขาภิบาล
• ดำเนินการขึ้นโครงสร้างชั้น 2 และโครงสร้างหลังคา โดยตัดทำเหล็กโครงสร้างหลังคา พร้อมทาสีกันสนิม จากนั้นจึงขึ้นโครงสร้างงานระบบสุขาภิบาล
4. ขั้นตอนการสร้างบันได การหล่อชิ้นส่วนต่างๆ และการมุงหลังคา
ขั้นตอนนี้ถือเป็นส่วนเติมเต็มด้านโครงสร้างบ้าน เพื่อให้เป็นโครงบ้านที่สมบูรณ์ พร้อมสำหรับการทำในขั้นตอนต่อไป โดนการทำโครงสร้างบันได จะต้องดูทั้งความสูง ความชันของตัวบันได บวกกับจำนวนขั้นบันไดที่ต้องสัมพันธ์กับมาตรฐานการสร้างที่ทำให้การเดินขึ้นลงสะดวก ปลอดภัย
ส่วนการหล่อชิ้นส่วนต่างๆ เช่น บัว กันสาด ขอบปูน ตลอดจนการมุงหลังคาบ้านเป็นขั้นตอนที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการสร้างแล้ว การเลือกใช้วัสดุที่มีมาตรฐาน และเหมาะกับงานแต่ละส่วนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะงานหลังคาที่ต้องมุงให้ถูกตามขั้นตอนเพื่อป้องกันการรั่วซึมในภายหลัง
5. งานก่อผนัง ติดตั้งวงกบไม้ และเตรียมงานระบบไฟฟ้า-ประปา
สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนนี้ ต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักมาตรฐาน เช่น
อิฐและคอนกรีตที่ใช้ก่อต้องทำให้ชื้นก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้อิฐดูดน้ำจากปูนก่อเร็วเกินไป
ต้องก่ออิฐสลับแนวให้ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง
• ก่อให้ได้แนวดิ่งและแนวฉากที่ถูกต้อง
• การก่อชนผนัง เสา ผนัง หรือแผงคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องเสียบเหล็กยื่นออกมาไม่น้อยกว่า 25 ซม. และฝังอยู่ในเสาเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 10 ซม.
• หากผนังมีความยาว หรือสูงกว่า 3 ม. ต้องมีเสาเอ็น หรือทับหลังคอนกรีตเสริมเหล็ก
• หากต้องการซ่อนในส่วนของสายไฟหรือท่อ ให้ดำเนินการวางท่อของระบบทั้ง ไฟฟ้า ประปา เครื่องปรับอากาศ และระบบสื่อสารต่างๆ ในขั้นตอนของงานผนังไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากภายหลัง
6. ขั้นตอนการฉาบผนังและติดตั้งฝ้าเพดาน
ก่อนดำเนินการฉาบปูน ควรต้องทำการกำหนดความสูงของฝ้าเพดานก่อน ทั้งฝ้าเพดานส่วนของภายใน ภายนอก และฝ้าชายคา จากนั้นจึงดพเนินการฉาบปูนตามมาตรฐานและขั้นตอน แล้วจึงทำการติดตั้งฝ้าเพดาน
ส่วนของการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โคมไฟ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับฝ้าเพดาน และถ้าอุปกรณ์นั้นมีน้ำหนักมาก ควรมีการ
เสริมโครงคร่าวฝ้าเพดาน หรือทำการยึดแขวนกับโครงสร้างหลักของบ้าน เพื่อความแข็งแรง และความปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งช่องเซอร์วิสเพื่อใช้เป็นช่องเปิดสำหรับอะนวยความสะดวกเวลาต้องเข้าไปตรวจสอบ และบำรุงรักษางานระบบต่างๆ เช่น สายเคเบิ้ล สายไฟ ท่อน้ำ โดยติดตั้งไว้บริเวณที่ไม่เป็นจุดสังเกตมาก เช่น ห้องครัว หรือห้องน้ำ
7. ขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งพื้น ผนัง และการทาสี
ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆ ของงานสร้างบ้าน ซึ่งเป็นทั้งการติดตั้งส่วนประกอบต่างๆ คือ ประตู หน้าต่าง สวิตซ์ ปลั๊กไฟ งานปูพื้น ปูกระเบื้อง และทาสี ซึ่งหากงานในขั้นตอนนี้เสร็จสิ้น บ้านทั้งหลังก็สามารถทำความสะอาดและนำเฟอร์นิเจอร์สำคัญๆ เข้ามาได้
การสร้างบ้านตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ จะช่วยให้บ้านหลังนั้นมีความแข็งแรง ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง โดยหากเลือกใช้บริการจากบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเป็นมืออาชีพ ก็จะยิ่งมั่นใจได้ว่า บ้านที่ได้นั้นมีมาตรฐานอย่างแน่นอน
สนับสนุนบทความโดย
ที่อยู่ : 79/338 ถ.สาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ : 0 2673 7061-3
อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.richiehouses.com