บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

10 เรื่องควรรู้ สร้างบ้านปลอดภัย เหมาะกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ

20
ส.ค.
2563

 

 

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้ออกนอกบ้านเท่าวัยหนุ่มสาว ด้วยเหตุผลด้านความคล่องตัวต่างๆ หรือสุขภาพร่างกายที่อาจไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นบ้านที่อยู่อาศัยควรเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างเพลิดเพลิน มีความสุขทุกช่วงเวลา และที่สำคัญคือปลอดภัย เหมาะกับการอยู่อาศัยในทุกช่วงเวลา

 

1. แบบบ้านสำคัญ ควรวางแผนตั้งแต่เริ่มสร้าง

การสร้างที่พักอาศัยเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ควรมีการวางแผนตั้งแต่การออกแบบ เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน และปรับพื้นที่ส่วนต่างๆ ภายในบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุอย่างแท้จริง โดยอาจออกแบบบ้านให้เป็นแบบชั้นเดียว หรือมีหลายชั้นแต่ห้องนอนผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่าง หรือหากอยู่ชั้นบนๆ ควรต้องมีลิฟต์ภายในบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยจากห้องนอนไปพื้นที่อื่นๆ

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงเรื่องการออกแบบแสงสว่าง ที่ควรมีอย่างเพียงพอทั่วบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น โถงทางเดิน และมีสวิสต์ไฟที่ใช้งานง่าย โดยอาจเลือกใช้เป็นระบบเซ็นเซอร์ รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุสร้างบ้านที่มีควรมีคุณสมบัติช่วยปรับอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป

 

 

2. ห้องนอนปลอดภัย สะดวกสบายยามพักผ่อน

ห้องนอนควรเป็นห้องที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการเข้าออก หากเป็นไปได้ควรอยู่ชั้นล่าง ภายในห้องควรมีความกว้างมากพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และควรมีฟังก์ชันที่เหมาะกับการใช้งาน เช่น

• หน้าต่างควรสูงจากพื้น 50 ซม. สามารถมองเห็นวิวภายนอกได้ชัดเจน

• เตียงไม่ควรอยู่ในมุมอับ ควรมีความยาวไม่น้อยกว่า 180 ซม. สูงไม่เกิน 40 ซม. และควรมีพื้นที่ว่างรอบเตียงอย่างต่ำด้านละ 90 ซม.

• หัวเตียงควรมีโทรศัพท์ สัญญาณฉุกเฉินที่สามารถหยิบใช้งานได้ง่าย

• ควรมีไฟทางเดินที่พื้น เพื่อสะดวกในการเดินยามค่ำคืน

• ตู้เสื้อผ้าควรใช้แบบบานเลื่อนเพื่อความปลอดภัย

• วัสดุปูพื้นห้องนอนควรมีความสะอาด บำรุงรักษาง่าย ลดการสะสมเชื้อโรค

 

  

 

 3.พื้นบ้าน บันได และพื้นที่ต่างระดับต้องตอบรับการใช้งาน

พื้นบ้าน บันได และทางเดินในบ้านมีความสำคัญกับการใช้ชีวิต และการเคลื่อนที่เปลี่ยนพื้นที่พักผ่อนในมุมต่างๆ ของบ้าน หากมีการออกแบบที่ตอบรับการเคลื่อนที่ของผู้สูงอายุ และมีความปลอดภัยมากพอ จะทำให้การใช้ชีวิตภายในบ้านเป็นไปได้ง่ายขึ้น

พื้นบ้าน

• เลือกใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น ไม่มันหรือมีลวดลายมากเกินไป

• ไม่ควรปูพรม เพราะนอกจากจะกักฝุ่น ดูแลยากแล้วยังทำให้เกิดการลื่นหรือสะดุดล้มได้ แต่หากต้องปูพรมจริงๆ ควรเลือกแบบที่ปูได้เรียบไปกับพื้น ไม่มีมุมที่จะทำให้สะดุด และควรแปะติดกับพื้นบ้านเพื่อกันการลื่น

• เลี่ยงการทำพื้นต่างระดับ หรือมีธรณีประตู หากจำเป็นต้องมี ควรทำเครื่องหมายเตือนให้รู้อย่างชัดเจน

บันได

• ควรมีราวจับที่มั่นคงทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งซ้ายและขวา

• ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

• ลักษณะของขั้นบันไดควรมีขอบกันลื่น มีขนาดที่เหยียบได้เต็มเท้า

• บริเวณบันไดควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ เพื่อให้มองเห็นขั้นบันไดได้อย่างชัดเจน

ทางเดิน และทางลาด

• ควรมีราวจับไว้ช่วยพยุงตัว

• ทางลาดควรมีความกว้างประมาณ 90-150 ซม. และมีความชันไม่เกิน 1:12 เพื่อให้รถเข็นขึ้นลงได้อย่างสะดวก

• ทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 2.50 เมตร ต้องมีราวจับทั้งสองด้าน และเน้นเป็นแบบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ซม.

 

 

4. ประตู-หน้าต่าง มีขนาดเหมาะสมสะดวกเมื่อใช้

การออกแบบประตู หน้าต่างในบ้านที่มีผู้สูงอายุ ควรเน้นเป็นแบบที่เป็นบานเลื่อน เพื่อง่ายต่อการเปิดปิด ตัวประตูควรมีความกว้างมากพอที่รถเข็นจะผ่านได้ และไม่ควรมีธรณีประตูเพื่อกันการสะดุดหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าได้ดี และผู้สูงสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอกบ้านได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพกายใจของผู้สูงอายุ

 

 

 5. ครัวดีมีดีไซน์เพื่อผู้สูงอายุ

การออกแบบครัวเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ ควรมีความสูงของตู้ติดผนังที่พอดีกับความสูงของผู้สูงอายุ ส่วนเคาเตอร์ควรมีความสูงที่ผู้สูงอายุสามารถยืนเตรียมอาหารได้อย่างพอดี ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ หรือเขย่งตัว และควรมีขอบมน ส่วนที่เก็บมีดและแก้วไม่ควรอยู่ในระดับสูง แต่ควรมีพื้นที่จัดเก็บให้หยิบจับใช้งานง่าย

นอกจากนี้การจัดวางตำแหน่งพื้นที่ใช้สอยในครัวควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ส่วนล้างทำความสะอาด ไม่ควรอยู่บริเวณทางเดินหลัก เพื่อป้องกันการลื่นหากมีน้ำหยดบนพื้น รวมทั้งควรมีระบบระบายอากาศที่ดี กรณีเกิดควันหรือไฟไหม้ และมีแสงสว่างที่เหมาะสม

 

 

6. ห้องน้ำสำคัญ ความปลอดภัยต้องมาก่อน

ห้องน้ำเป็นหนึ่งพื้นที่ของบ้านที่มีโอกาสทำให้ผู้สูงอายุเกิดอันตรายได้มากเป็นอันดับต้นๆ หากมีการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานที่ไม่ดีพอ หรือไม่เหมาะกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับส่วนประกอบภายในเป็นพิเศษเช่น

• ห้องน้ำควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5-2 เมตร เพื่อให้เมื่อรถเข็นเข้าไปแล้วสามารถกลับตัวได้

• ประตูควรกว้างอย่างน้อย 0.9 เมตร เป็นแบบประตูบานเลื่อนเพื่อความปลอดภัย

• แยกพื้นที่การใช้งานระหว่างส่วนเปียกกับส่วนแห้ง และไม่ควรทำพื้นต่างระดับ

• วัสดุปูพื้นห้องน้ำควรมีผิวสัมผัสที่หยาบ ไม่ทำให้เกิดการลื่น

• อ่างล้างหน้าควรใช้แบบมีส่วนโค้งเว้า หรือแบบแขวนผนัง เพื่อให้รถเข็นสามารถสอดเข้าไปใต้อ่างล้างหน้าได้ และควรมีราวจับทั้งสองด้าน

• โถสุขภัณฑ์ควรมีความสูงใกล้เคียงกันกับรถเข็น พร้อมมีราวจับ

• ควรติดตั้งราวจับทั่วพื้นที่การใช้งาน เพื่อช่วยในการพยุง และเคลื่อนย้าย

• ควรติดตั้งสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

 

 7.ห้องนั่งเล่น พื้นที่สร้างความสุขภายสบายใจ

ห้องนั่งเล่น เป็นอีกหนึ่งมุมพักผ่อนที่ผู้สูงอายุสามารถใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่การจัดตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ หรือการวางข้าวของต่างๆ ควรมีความเป็นระเบียบ และเว้นช่องว่างของพื้นที่เพื่อสะดวกต่อการใช้รถเข็น สายไฟ ปลั๊กไฟ ควรเป็นแบบฝังหนัง ไม่ลายสายระโยงระยางบนพื้น เพราะอาจทำให้เกิดการสะดุดได้

 

 

8. ที่จอดรถสะดวกยามใช้สอย

ในตำแหน่งของที่จอดรถควรสร้างให้มีขนาดไม่ต่ำกว่า 2.4 x 6 เมตร โดยเว้นระยะด้านข้างเพิ่มอีก 1 เมตร สำหรับเป็นทางรถเข็น และควรสร้างแบบมีหลังคาเพื่อกันแดดกันฝนระหว่างผู้สูงอายุขึ้นลงรถ จะช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย และปลอดภัยมากขึ้น

 

 

 9. พื้นที่รอบบ้านอบอวลด้วยความผ่อนคลาย

พื้นที่รอบบ้านเป็นอีกมุมที่ผู้สูงอายุสามารถพักผ่อน โดยอาจมีมุมให้สามารถทำกิจกรรมเบาๆ ได้ เช่น จัดสวนหย่อม หรืออกกำลังกายเบาๆ ในสวน หรือมีมุมนั่งพักผ่อนใต้ร่มเงาไม้ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อน ทั้งนี้ภายในสวนควรมีทางลาดสำหรับรถเข็น และไม่ควรมีสระน้ำลึก หรือทางต่างระดับในสวน

 

 

 10. สัญญาณเตือน สัญญาณฉุกเฉินต่างๆ ต้องพร้อม

ในพื้นที่ใช้สอยของบ้านที่ผู้สูงอายุอยู่ประจำ ควรติดตั้งสัญญาณเตือน หรือสัญญาณฉุกเฉิน หากเป็นไปได้ให้ติดไว้รอบบ้าน เพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับลูกหลายเมื่อไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ โดยปุจจุบันสามรถเชื่อมต่อสัญญาณเตือนเข้าสมาร์ทโฟนได้ จะช่วยให้มีการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีขึ้น

 

 

การสร้างบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยได้อย่างสุขกายสบายใจ สะดวกและปลอดภัย นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการเลือกแบบบ้านและเลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเป็นมืออาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้อยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพในระยะยาว และที่สำคัญนอกจากบ้านที่ดี จากทีมสร้างที่ดีแล้ว ลูกหลานและญาติพี่น้องควรให้เวลา และให้ความเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดด้วย 

 

สนับสนุนบทความโดย

บริษัท โฟร์พัฒนา จำกัด

ที่อยู่ : 2 ซ.ลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

โทรศัพท์ : 0 2940 3789

อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เว็บไซต์ : www.fourpattana.com

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154