ลงทุนสร้างบ้านทั้งที นอกจากความหวังที่อยากได้บ้านสวยสมบูรณ์ตรงตามแบบ และงบไม่บานปลายแล้ว สิ่งที่เจ้าของบ้านมองหาและอยากให้บ้านของครอบครัวมี คือความปลอดภัยและมาตรฐานงานสร้าง ที่จะทำให้อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยในระยะยาว เพื่อเป็นรากฐานชีวิตสำหรับตัวเจ้าของบ้านเองและลูกหลานในอนาคต ดังนั้นวันนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จึงขอนำขั้นตอนสำคัญเพื่อการสร้างบ้านให้ได้มาตรฐานสูง มาแบ่งปัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนสร้างบ้าน
มาตรฐานคืออะไร ทำไมจึงสำคัญกับการสร้างบ้าน?
มาตรฐาน คือ สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์เพื่อรับรอง และเทียบในด้านปริมาณและคุณภาพของการสร้างบ้าน โดยเกณฑ์ของความมีมาตรฐานนั้นต้องเป็นเกณฑ์ที่คนทั่วไปยอมรับ
สำหรับการก่อสร้างบ้านนั้น คำว่ามาตรฐาน ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะจะมีเรื่องของงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ซึ่งหากผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างสร้างบ้านจะตกลงกันเรื่องราคาก่อสร้างจนได้บ้าน 1 หลัง ต้องดึงคำว่ามาตรฐานมาเป็นตัวช่วยเพื่อกำหนดว่างบประมาณที่จ่ายไปนั้น จะได้บ้านแบบไหน วัสดุคุณภาพแบบใด ใช้เวลาก่อสร้างนานแค่ไหน และปริมาณงานหรือขอบเขตงานจะอยู่ที่ตรงไหน
มาตรฐานที่งานสร้างบ้านควรมี
- มาตรฐานงานโครงสร้าง เป็นมาตรฐานของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นตัวกำหนดสเปกวัสดุที่ใช้ ทั้งคุณภาพของวัสดุที่ต้องผ่าน ม.อ.ก. มีความเหมาะสมกับประเภทงาน พร้อมกำหนดคุณสมบัติวัสดุ การใช้ และวิธีการติดตั้งไว้อย่างชัดเจน
- มาตรฐานสถาปัตยกรรม เป็นการตรวจสอบคุณภาพงานสถาปัตยกรรม ซึ่งต้องทำทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังสร้างบ้าน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนตามข้อกำหนด และป้องกันข้อผิดพลาดภายหลัง
ขั้นตอนสำคัญเพื่อสร้างบ้านอย่างมีมาตรฐาน
1. เตรียมพื้นที่สร้างบ้าน
เมื่อเลือกแบบบ้านและบริษัทรับสร้างบ้านแล้ว ขั้นตอนแรกที่ต้องทำก่อนก่อสร้างบ้านคือการเตรียมพื้นที่สร้างบ้าน โดยทีมบริษัทรับสร้างบ้านจะเริ่มลงพื้นที่หน้างาน เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการก่อสร้างบ้าน เช่น
- ตรวจสอบระดับดินไม่ให้อยู่ในระดับต่ำเกินไป รวมถึงความแข็งของเนื้อดินเพื่อป้องกันปัญหาดินทรุดภายหลัง
- ตรวจสอบระยะร่นให้ถูกต้องตามเทศบัญญัติ
- กำหนดจุดกองเก็บอุปกรณ์และวัสดุสำหรับงานก่อสร้าง รวมถึงเตรียมที่พักคนงานกรณีคนงานไม่ได้พักอาศัยใกล้ที่ก่อสร้าง
- กรณีมีบ้านหลังเก่าอยู่ต้องทำการรื้อถอนออกก่อน
- หากเป็นที่ดินเปล่ายังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มาก่อน ก็ต้องดำเนินการในเรื่องการขอน้ำ-ไฟฟ้า ชั่วคราว สำหรับใช้ในงานก่อสร้าง
2. กำหนดผังอาคาร
ในขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเมื่อจัดเตรียมพื้นที่สร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว โดยการวางผังอาคารจะเป็นการกำหนดตำแหน่งต่างๆ ของเสาเข็ม ซึ่งจะอ้างอิงจากแบบบ้านเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน สถาปนิก วิศวกร และทีมก่อสร้าง
ในขั้นตอนนี้จะทำให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นแนวต้นไม้ใหญ่ แนวเสาเข็มของบ้านหลังเก่า หรือตำแหน่งของอาคารที่อยู่ใกล้เคียงและมีผลกับตัวบ้าน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจมีผลให้เกิดการปรับแบบหรือการแก้ไขต่างๆ ที่จะดำเนินการได้ต้องมีผู้ออกแบบบ้านเซ็นชื่อรับรองและเจ้าของบ้านรับทราบและยอมรับเพื่อให้งานในขั้นตอนต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาเรื่องการรื้อแบบภายหลัง
3. การลงเสาเข็ม
ในขั้นตอนนี้ก่อนลงเสาเข็มต้องเลือกก่อนว่าจะเลือกลงเสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะ ซึ่งทั้ง 2 แบบมีข้อแตกต่างกันคือ
- เสาเข็มตอก เป็นที่นิยมเพราะมีความซับซ้อนของงานน้อย ราคาถูกกว่า ตรวจสอบความแข็งแรงและความสมบูรณ์ได้ง่าย โดยการตอกจะใช้เครื่องจักรที่เรียกกันว่าปั้นจั่น ตอกเสาเข็มลงไปในดิน ให้ได้ระดับความลึกตามกำหนด เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลชุมชนหรือบ้านข้างเคียง
- เสาเข็มเจาะ เป็นเสาเข็มที่ต้องเทคอนกรีตหล่อเสาหน้างาน โดยจะใช้เครื่องจักรเจาะดินลงไปให้ลึกตามแบบ จากนั้นหย่อนแม่แบบเหล็กลงไปพร้อมวางโครงสร้างเหล็กของเข็มก่อนเทคอนกรีตตาม แล้วรอให้คอนกรีตเซตตัว เสาเข็มแบบนี้จะทำให้เกิดมลภาวะน้อย ทำงานในพื้นที่จำกัดได้สะดวกกว่า แรงสั่นสะเทือนน้อย แต่ราคาสูงกว่า เหมาะกับบ้านที่มีทางเข้าแคบๆ หรือมีบ้านข้างเคียง
เมื่อเลือกแบบเสาเข็มได้แล้วการขุดเจาะจะดำเนินการตามผังที่วางไว้ โดยทีมงานจะเก็บข้อมูลทางวิศวกรรม ดูกำลังรับน้ำหนักและความลึกของเสาเข็ม ข้อสำคัญคือการจะลงเสาเข็มทุกต้นต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมและตรวจสอบความแข็งแรงให้ตรงตามหลักวิศวกร เพื่อให้งานสร้างนั้นมีมาตรฐาน
4. งานฐานรากและโครงสร้างชั้นล่าง-ชั้นบน
เมื่องานเสาเข็มเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของงานโครงสร้างฐานราก ที่ประกอบด้วยฐานรากและตอม่อ จากนั้นจึงจะต่อด้วยขั้นตอนของโครงสร้างชั้นล่าง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับส่วนของคาน คานคอดิน เสา พื้น
ส่วนโครงสร้างชั้นบนจะเกี่ยวข้องกับเสา คาน คานหลังคา รวมถึงการหล่อชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งบัว กันสาด หรือขอบปูน ซึ่งแต่ละส่วนต้องใช้เวลาให้คอนกรีตเซตตัวก่อน แล้วจึงจะขึ้นโครงหลังคา ซึ่งปัจจุบันโครงหลังคามีหลากประเภท เช่น โครงหลังคาเหล็ก โครงหลังคาสำเร็จรูป
นอกจากนี้ยังมีส่วนของงานวางระบบสุขาภิบาล เช่น บ่อพัก ถังเก็บน้ำใต้ดิน ระบบน้ำทิ้ง ท่อประปา ซึ่งจะเป็นการขุดดินเพื่อวางระบบ และดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นหากทีมสร้างบ้านไม่ได้ทำข้อมูลตำแหน่งต่างๆ ไว้ เจ้าของบ้านควรถ่ายรูปและจดบันทึกรายละเอียดตำแหน่งๆ และระยะของงานระบบไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกรณีที่มีการซ่อมแซมในอนาคต
5. โครงสร้างบันไดและงานมุงหลังคา
เมื่อโครงสร้างหลักๆ แล้วเสร็จก็ถึงขั้นตอนของการติดตั้งมุงหลังคา ซึ่งต้องมุงให้ถูกต้องตามขั้นตอนและมีการเลือกใช้วัสดุที่ดีมากพอเพื่อป้องกันปัญหารั่วซึมภายหลัง
ขณะเดียวกันยังมีส่วนของงานโครงสร้างบันไดที่ทีมก่อสร้างจะเริ่มหล่อโครงสร้างบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือติดตั้งบันไดเหล็กแบบที่วางไว้ จากนั้นจึงเก็บรายละเอียดงานโครงสร้างส่วนต่างๆ
6. งานก่อผนังฉาบปูน
งานก่อผนังที่ได้รับความนิยมจะเป็นผนังก่ออิฐ ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ ผนังก่ออิฐโชว์แนว เป็นผนังที่มีการก่ออิฐเรียงกันโดยไม่มีการฉาบปูนทับ และผนังก่ออิฐฉาบปูน เป็นผนังที่ใช้อิฐก่อขึ้นแล้วฉาบทับด้วยปูนเพื่อความเรียบร้อย
การทำผนังก่ออิฐ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะไหน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ตรวจสอบว่าได้มีการเตรียมเหล็กหนวดกุ้งยื่นออกมาจากเสา เพื่อยึดประสานระหว่างเสาและผนังบ้านแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันการร้าวของผนัง ตามมุมผนังและรอยต่อผนังที่เป็นวัสดุที่ต่างชนิด ใช้ลวดกรงไก่บุผนังก่อนฉาบปูน เพื่อยึดและป้องกันการแตกร้าว
นอกจากนี้ยังมีหลักปฏิบัติที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้งานผนังมีมาตรฐาน เช่น
- อิฐที่นํามาก่อผนังต้องชุบน้ำจนอิ่มตัวก่อน เพื่อไม่ให้ดูดน้ำจากปูนก่อเร็วเกินไป
- การก่อต้องก่อสลับแนวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เว้นระยะระหว่างแถวเท่ากัน โดยไม่น้อยกว่า 1 ซ.ม. และไม่เกิน 1.5 ซ.ม.
- อิฐที่ก่อต้องได้แนวทั้งทางดิ่งและระดับ
- เศษอิฐที่ก่อไม่เต็มก้อนให้ก่อไว้ริมเสา
- ก่อนฉาบปูนต้องทำความสะอาดผิวและราดน้ำให้เปียก ก่อนฉาบผิวคอนกรีตต้องกะเทาะให้ผิวหยาบ
- ปูนที่ฉาบผิวเสร็จแล้วมองดูต้องไม่เป็นคลื่น
7. ฉาบผนังและติดตั้งฝ้าเพดาน
ขั้นตอนนี้ต้องกำหนดความสูงของฝ้าเพดานก่อน จากนั้นจึงฉาบผนังตามมาตรฐานและขั้นตอนให้แล้วเสร็จ แล้วจึงทำการติดตั้งฝ้าเพดาน
หากมีการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โคมไฟ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับฝ้าเพดานที่มีน้ำหนักมาก ควรมีเสริมโครงคร่าวฝ้าเพดาน หรือยึดแขวนกับโครงสร้างหลักของบ้าน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและปลอดภัย
สิ่งที่ลืมไม่ได้คือการติดตั้งช่องเซอร์วิส ที่จะใช้เปิดเวลาเข้าไปตรวจสอบหรือบำรุงรักษางานระบบต่างๆ โดยควรอยู่ในบริเวณที่ไม่เป็นจุดสังเกตมาก เช่น ห้องครัว หรือห้องน้ำ
8. งานติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งพื้นผิว ผนัง ประตู-หน้าต่าง
ขั้นตอนนี้จะเกี่ยวข้องกับงานออกแบบภายในด้วย ดังนั้นนั่นหมายถึงความสวยงามต่างๆ ภายใน หรือบรรยากาศบ้านที่จะน่าอยู่ดูดีแค่ไหนก็รวมอยู่ในขั้นตอนนี้ จึงต้องอาศัยความประณีตของฝีมือฝานช่าง และความเนี้ยบเป็นสำคัญ โดยงานส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับ วัสดุตกแต่งผนังและพื้น ระบบแสงสว่าง ชุดประตู-หน้าต่าง งาน Built-in ส่วนต่างๆ อุปกรณ์ครัว และสุขภัณฑ์ห้องน้ำ
เมื่อขั้นตอนหลักๆ เสร็จสิ้นตามลำดับข้างต้น ก็ได้เวลาที่ต้องทำความสะอาดและตรวจสอบความเรียบร้อยเพื่อให้พร้อมสำหรับการเข้าอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่บ้านที่สร้างโดยใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพ มักไม่พบปัญหาในขั้นตอนท้ายๆ เพราะจะมีการสร้างและส่งงานเป็นงวดๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านตรวจสอบและแจ้งแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ทำให้บ้านสร้างเสร็จสมบูรณ์และมีมาตรฐาน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาคุณก็แค่เตรียมลากกระเป๋าเดินเข้าบ้านเพื่ออยู่อาศัยได้อย่างสบายๆ
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท ริชชี่ เฮ้าส์ จำกัด
79/338 ถ.สาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ : 0 2673 7061-3
อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.richiehouses.com