ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดินควรรู้ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับการเก็บภาษีที่ดินใหม่ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 ซึ่งมีการขยายกำหนดการจัดเก็บภาษีจากวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งระหว่างนี้ผู้ครอบครองที่ดินควรเตรียมพร้อมและตรวจสอบให้แน่ชัดว่าตนเองเข้าข่ายในการเสียภาษีที่ดินใหม่นี้หรือไม่
ภาษีที่ดินใหม่กับเรื่องควรรู้ที่ต้องเตรียมรับมือ
ผู้ที่ครอบครองที่ดินควรเตรียมตัวเกี่ยวกับข้อมูล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ดินใหม่นี้ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมหาแนวทางลดหย่อนภาษีตามสิทธิพึงได้เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีสูง
ภาษีที่ดินใหม่คืออะไร?
ภาษีที่ดินใหม่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของภาษีบำรุงท้องที่เดิมที่มีปัญหาราคาปานกลางไม่มีการปรับมาเป็นเวลานาน อัตราภาษีถดถอย และมีการยกเว้นลดหย่อนจำนวนมาก รวมถึงแก้ไขส่วนของภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งมีปัญหาด้านฐานภาษีซ้ำซ้อน อัตราภาษีสูง และเปิดให้ใช้ดุลยพินิจในการประเมินค่อนข้างสูง โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้จะมีความชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับการทำประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมในปัจจุบัน
การจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่จะเก็บตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในครอบครองเป็นรายปี โดยแบ่งเป็น 4 รายการ ดังนี้
• ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
• ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
• ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม
• ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีที่ดินใหม่
• แก้ปัญหาเรื่องภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน
• เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้ทันสมัย มีความเป็นสากล
• กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้าง
• เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสร้างความโปร่งใส
• ช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาพื้นที่ เพื่อความเจริญในระยะยาว
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่
1. ฐานภาษี
เป็นจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี ได้แก่
• มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
2. ผู้เสียภาษี
• เจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง
• เจ้าของห้องชุด
• ผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือทำประโยชน์ในส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐ
3. ผู้จัดเก็บภาษี
หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี ได้แก่
• สำนักงานเขตเทศบาล
• องค์การบริหารส่วนตำบล
• สำนักงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
• ศาลาว่าการเมืองพัทยา
เจ้าของบ้านอยู่อาศัยต้องเสียภาษีอย่างไร?
ในที่นี้หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เช่น บ้าน ตึกแถว ห้องชุด แบ่งรายละเอียดเป็น บ้านหลังหลัก และบ้านหลังอื่นๆ
1. บ้านหลังหลัก
หมายถึง เจ้าของบ้านและที่ดิน หรือเจ้าของเฉพาะตัวบ้านมีชื่อในเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ และทะเบียนบ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน หรือเจ้าของคนใดคนหนึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้าน)
• ตัวบ้านและที่ดิน มีชื่อในโฉนด หรือกรรมสิทธิ์ห้องชุด มีชื่อในทะเบียนบ้าน ยกเว้นภาษี 50 ล้านบาท
• ตัวบ้าน ไม่รวมที่ดิน (ปลูกสร้างในที่ดินคนอื่น) มีชื่อในทะเบียนบ้าน ยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท
***เจ้าของบ้านจะใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีบ้านหลังหลักได้คนละ 1 หลังเท่านั้น
2. บ้านหลังอื่นๆ
หมายถึง เจ้าของบ้านมีชื่ออยู่ในโฉนด หรือในกรรมสิทธิ์ห้องชุด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย (ครอบครองกี่หลังต้องเสียทุกหลัง)
ขั้นตอนการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1) ตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับ ประเภท ขนาด และการใช้ประโยชน์ หากข้อมูลไม่ถูกต้องให้รีบยื่นเรื่องกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขข้อมูล
2) ตรวจสอบแบบแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับ ประเภท ขนาด ราคาประเมิน อัตราภาษี การใช้ประโยชน์ และค่าภาษี หากการประเมินไม่ถูกต้องสามารถยื่นเรื่องคัดค้านและอุทธรณ์ได้
3) ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเวลาที่กำหนด คือภายในเดือนสิงหาคม 2563 (เฉพาะปี 2563 เท่านั้น ส่วนปีอื่นๆ เสียภาษีภายในเดือนเมษายน)
อัตราการเสียภาษีตามร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท
เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 ซึ่งมีการปรับลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากถึง 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
อัตราภาษีเริ่มต้น ร้อยละ 0.01
• บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ
ยกเว้นภาษี 3 ปีแรก (2563-2565) อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
• นิติบุคคลเป็นเจ้าของ
ยกตัวอย่าง ราคาประเมินที่ดิน 5 ล้านบาท หากคิดตามอัตราภาษีเดิมผู้ครอบครองต้องเสียภาษี 500 บาท แต่เมื่อปรับลดตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะเสียภาษีเพียง 50 บาท
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย
อัตราภาษีเริ่มต้น ร้อยละ 0.02
2.1 บ้านหลังหลัก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน)
• กรณีเป็นเจ้าของตัวบ้านและที่ดิน
ได้รับการยกเว้นฐานภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
• กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน
ได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
2.2 บ้านหลังอื่นๆ (เช่น บ้านหลังที่สอง หรือคอนโดหลังที่สอง)
ยกตัวอย่าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท หากคิดตามอัตราภาษีเดิมผู้ครอบครองต้องเสียภาษี 1000 บาท แต่เมื่อปรับลดตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะเสียภาษีเพียง 100 บาท
3. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
อัตราภาษีเริ่มต้น ร้อยละ 0.03
ยกตัวอย่าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท หากคิดตามอัตราภาษีเดิมผู้ครอบครองต้องเสียภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อปรับลดตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะเสียภาษีเพียง 1,500 บาท
การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่เป็นเรื่องที่ผู้ครอบครองที่เข้าข้ายไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถหาทางออกเรื่องการลดหย่อนหรือเช็กรายละเอียดเรื่องการลดอัตราภาษีแบบถูกกฎหมายได้ ดังนั้นเจ้าของบ้านที่กำลังจะสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง หรือกำลังเตรียมซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านในอนาคต จึงควรศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน และไม่ลืมชำระภาษีตามกำหนด เพื่อให้บ้านนั้นถูกทั้งใจเจ้าของ และถูกกฎหมาย อยู่สบายกายใจในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรงการคลัง
สนับสนุนบทความโดย
79/338 ถ.สาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ : 0 2673 7061-3
อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.familyhome.co.th