ในช่วงไม่กี่ปีนี้หนึ่งในสไตล์บ้านที่โดดเด่นและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ บ้านสไตล์นอร์ดิก ที่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีเส้นสายนุ่มนวล ผสมผสานความมินิมอลเรียบง่ายกับความโมเดิร์นได้อย่างลงตัว และในด้านฟังก์ชันของบ้านยังออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ และด้วยความที่บ้าน Nordic Style มีต้นแบบจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จึงเกิดข้อกังวลขึ้นมาหากจะตัดสินใจสร้างบนพื้นดินที่ประเทศไทย วันนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจะพามาส่องเทรนด์บ้าน Nordic Style พร้อมเทคนิคการสร้างให้อยู่อาศัยได้ในระยะยาว
เอกลักษณ์ของบ้าน Nordic Style
บ้านสไตล์นอร์ดิก เป็นรูปแบบบ้านที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของยุโรปตอนเหนือ แถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย โดยประเทศที่อยู่ในกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งให้ความอบอุ่น เรียบง่าย เน้นความโปร่งโล่งที่มีดีไซน์สวย เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนผ่อนคลาย
โดยเอกลักษณ์ที่เด่นชัดมองแล้วรู้ว่าเป็นบ้านสไตล์ Nordic คือ
- รูปทรงของบ้านที่เป็นสามเหลี่ยมทรงสูง
- บ้านโปร่งโล่ง เข้าถึงความเป็นธรรมชาติ
- เน้นการใช้โทนสีที่เลียนแบบธรรมชาติ โทนสีสว่าง และสีขาวเป็นหลัก แล้วแต่งแต้มด้วยสีเอิร์ธโทน และสีพาสเทลอ่อนๆ
- การออกแบบจะเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีการตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออก
- ใช้กระจกตกแต่งช่วยเพิ่มแสงสว่างและความโปร่งโล่ง
เทคนิคการสร้างบ้าน Nordic ให้อยู่อาศัยได้ระยะยาว
สำหรับการสร้างบ้านสไตล์ Nordic ในประเทศไทยซึ่งมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแตกต่างจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้น สามารถทำได้แต่ต้องมีการวางแผน ประยุกต์ ปรับแต่งให้เข้ากับเมืองไทยเมืองร้อน ดังนี้
1. จัดวางแบบแปลนและทิศทางบ้านลดร้อน
ด้วยเอกลักษณ์เด่นเรื่องหลังคาทรงจั่วไร้ชายคา และการใช้กระจกเพิ่มความโปร่งโล่งเป็นจำนวนมาก เมื่อมาอยู่เมืองร้อนอย่างประเทศไทย ทำให้อดหวั่นใจเรื่องความร้อนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขด้วยการออกแบบ โดยเลือกจัดวางทิศทางห้องแต่ละห้องให้เหมาะกับทิศทางแสงแดด ห้องที่ไม่เน้นช่องเปิดมากให้ไว้ฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนห้องที่มีช่องกระจกบานใหญ่เลือกไว้ทางทิศเหนือ หรือออกแบบอาคารลักษณะเว้าเข้าไปเพื่อให้จุดเว้าเป็นชายคาโดยอัตโนมัติ
2. ใช้วัสดุช่วยลดความร้อน
วัสดุมีส่วนสำคัญมากในการปกป้องบ้านจากความร้อน โดยผสมผสานวัสดุกันความร้อนกับเทคนิคการก่อสร้างเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
- การเลือกทำผนังอิฐ 2 ชั้น
- เลือกวัสดุมุงหลังคาที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน พร้อมติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อนและฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาโดยเฉพาะจุดที่ต้องการทำฝ้าสูงโปร่งตามแนวจั่วจะต้องเพิ่มคุณสมบัติกันเป็นพิเศษ
- ปลูกต้นไม้ ช่วยให้บ้านดูมีชีวิตชีวา และลดอุณหภูมิร้อนทางสายตาได้เป็นอย่างดี
3. ร่นผนังป้องกันฝนสาดและผนังชื้น
เสน่ห์ของบ้านสไตล์ Nordic คือเส้นสายของหลังคาแบบไร้ชายคา หากมีกันสาดก็ไม่ใช่บ้าน Nordic แท้ ๆ แต่ด้วยประเทศไทยร้อนชื้นมีฝนชุก ดังนั้นควรออกแบบรับมือกับความชื้นบนผนังและฝนสาดไว้ตั้งแต่ต้นด้วยการร่นผนังเว้าเข้าไป เพื่อให้หลังคาและกรอบบ้านทำหน้าที่เป็นกันสาดไปในตัว สำหรับในส่วนของหน้าต่าง ประตูฝั่งที่ไม่มีชายคา ให้เลือกหน้าบานที่เป็นขอบอะลูมิเนียมหรือไวนิลที่สามารถป้องกันน้ำรั่ว น้ำซึมเข้าภายในตัวบ้านได้ดีกว่าวัสดุไม้ ในส่วนของผนังชื้นเราสามารถป้องกันได้ด้วยการทาสีที่มีคุณสมบัติป้องกันความชื้น ป้องกันเชื้อรา
4. มุงหลังคากันรั่วซึม
แม้ว่าบ้านสไตล์ Nordic จะมีจั่วสูงแต่ก็อาจเกิดปัญหารั่วซึมบนหลังคาได้หากขาดการระมัดระวังในขั้นตอนการมุงหลังคา ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหานี้ตั้งแต่ต้นควรออกแบบความลาดเอียงของหลังคาให้เหมาะสม เช่น ควรให้หลังคาทำมุม 40 องศา เพื่อให้น้ำฝนไหลลงด้านล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่เกิดน้ำขังบริเวณหลังคาจนเกิดการรั่วซึมได้ง่าย นอกจากนี้โครงหลังคาที่สูงยังช่วยให้ภายในตัวบ้านโปร่งโล่ง อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี หากเสริมช่องระบายอากาศเพิ่มจะเอื้อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ภายในบ้านอยู่เย็นสบายตลอดเวลา
แม้บ้านสไตล์นอร์ดิกจะมีปัญหาเรื่องความร้อนและฝนสาดอยู่บ้าง แต่ถ้าออกแบบให้เหมาะสมก็หมดกังวลเรื่องรั่วซึม และด้วยจุดเด่นหลังคาบ้านสไตล์ Modern Barn ที่มีเอกลักษณ์เด่นชัด การสร้างบ้าน Nordic Style จึงต้องอาศัยบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในงานหลังคาโดยเฉพาะ เพื่อให้งานหลังคาจบ สวย ไร้ปัญหารั่วซึมให้ต้องตามแก้ไขในภายหลัง
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท มีนบุรีรับสร้างบ้าน คุณภาพ จำกัด
ที่อยู่ : เลขที่ 75/11 ซ.ร่มเกล้า ถ.ร่มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510
โทรศัพท์ : 0 2919 4653
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.bannmean.com