ปัญหาแตกร้าวที่เกิดขึ้นจากโครงสร้าง อาจทำให้หลายบ้านหวาดหวั่นและไม่มั่นใจในความปลอดภัยระหว่างการพักอาศัย แน่นอนว่าปัญหานี้ป้องกันก่อนเกิดได้ด้วยการเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถและสร้างบ้านได้มาตรฐาน ที่สำคัญมีความเป็นมืออาชีพไม่ทิ้งงาน แม้สร้างเสร็จแล้วก็ยังมีประกันให้อุ่นใจ แต่เมื่ออยู่อาศัยระยะยาวความเสื่อมโทรมย่อมตามมา รอยร้าวเจ้าปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นลองไปดูวิธีสังเกตและประเมินความเสี่ยงของบ้านก่อนสายเกินแก้กัน
รอยแตกร้าวเกิดจากอะไร?
เมื่อสำรวจบ้านและพบรอยร้าว ไม่ว่าจุดใดก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องทำคือจดบันทึกขนาด ความกว้าง ความยาว โดยใช้ดินสอขีดสัญลักษณ์ไว้เพื่อสะดวกต่อการสังเกต โดยตั้งแต่จุดเริ่มต้นรอยร้าวจนจรดจุดที่แยกล่าสุด เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาของทีมช่างได้ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการแตกร้าวมีหลายอย่าง เช่น
- วัตถุดิบและสัดส่วนการผสมคอนกรีต เช่น หิน ทราย โดยหินทรายที่มีดินเหนียวปนอยู่ เมื่อดินเหนียวหดตัว อาจเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดการแตกร้าว
- ปูนซีเมนต์ โดยทั่วไปคอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์มาก หรือ ปูนซีเมนต์ที่มีปริมาณซิลิก้าหรือความละเอียดสูงก็เป็นเหตุให้เกิดการแตกร้าวได้
ประเภทของรอยแตกร้าว
1. รอยร้าวแนวเฉียงทแยงมุม
รอยร้าวบริเวณผนังที่เกิดในลักษณะเป็นแนวเฉียงทแยงจากบนลงล่างนี้ ถือว่าเป็นรอยร้าวที่อันตรายอันดับต้นๆ เพราะนี่คือสัญญาณบอกว่าบ้านมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวไม่เท่ากันบริเวณฐานราก เกิดจากเสาต้นใดต้นหนึ่งทรุดตัว และคานที่รัดเสาแต่ละต้นไม่สามารถพยุงให้อยู่ในระนาบเดียวกันได้ ส่งผลให้ผนังเกิดการแตกร้าวตามมา การแก้ไขปัญหารอยร้าวชนิดนี้ต้องอาศัยเชี่ยวชาญจัดการ
2. รอยร้าวขอบประตูหน้าต่าง
ขอบประตูหน้าต่างเป็นหนึ่งในจุดที่พบรอยร้าวของบ้านได้บ่อย เนื่องจากบริเวณวงกบประตูหน้าต่างมีแรงดึงสูงมากจนเกิดการกระจายแรงของผิวปูนที่ฉาบไว้ไม่เท่ากันทำให้เกิดรอยร้าวขึ้น ซึ่งตามหลักที่ถูกต้องเมื่อก่อสร้างบริเวณวงกบประตูหน้าต่าง ต้องใส่เหล็กกรงไก่เพื่อให้วงกบกับผนังอยู่ติดกัน
รอยร้าวที่ขอบประตูหน้าต่างถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งที่ตามมาก็เพียงแค่น้ำรั่วซึมเข้าบ้าน วิธีการแก้ไขคือถ้าไม่เป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ให้ใช้ซิลิโคนหรือยาแนวมาอุด แต่ถ้ารอยร้าวมีขนาดใหญ่ให้ทำการรื้อประตู หรือหน้าต่างออกและทำการติดตั้งใหม่ให้ถูกวิธี
3. รอยร้าวที่หัวเสา
รอยร้าวที่นับว่าเป็นอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในบ้านก็คือ รอยร้าวลักษณะเฉียงๆ ที่หัวเสา ตรงส่วนที่คานไปติดกับเสาทั้งสองด้าน อาจเป็นรอยเฉียงๆ ที่ปลายคานหรือหัวเสาเลยก็ได้ เกิดขึ้นจากการคำนวณขนาดของเสาเพื่อรับน้ำหนักผิดพลาด หรือการใช้งานอาคารผิดประเภท ทำให้เสารับน้ำหนักเกินจนคอนกรีตกะเทาะออกมา
รอยร้าวในลักษณะนี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองหรือใช้ช่างทั่วไปได้ เพราะเป็นรอยที่อันตราย วิธีการแก้ไขคือต้องเรียกผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทรับสร้างบ้านช่วยดูแล
4. รอยแตกร้าวที่เกิดบนพื้น
รอยแตกร้าวบนพื้นเป็นลักษณะรอยร้าวที่บ่งบอกถึงการทรุดตัวของฐานรากที่ไม่เท่ากัน ส่งผลต่อโครงสร้างของบ้าน เนื่องจากเสาเข็มฝั่งที่ไม่ทรุดตัวนั้นจะถูกดึงให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม และเมื่อมีรอยแตกร้าวแบบนี้เกิดขึ้นอย่านิ่งนอนใจควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วน
จากลักษณะรอยร้าวประเภทต่างๆ ข้างต้นนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากโครงสร้างที่หากปล่อยไว้นานวันย่อมเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย ดังนั้นหากพบเห็นรอยร้าวควรจดบันทึกและแจ้งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทรับสร้างบ้านเพื่อป้องกันปัญหา ชะลออายุโครงสร้าง หรือแก้ไขให้บ้านนั้นอยู่อาศัยได้ยาวนานขึ้น
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด
288/18 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
โทรศัพท์ : 2 970 3080 - 3
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.emperorhouse.com