บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

เทคนิคสร้างพื้นที่ดาดฟ้า ให้อยู่เย็นสบายห่างไกลความร้อน

25
ส.ค.
2564

 

 

ดาดฟ้า พื้นที่เปิดโล่งชั้นบนสุดของบ้านที่มักถูกละเลยด้วยแสงแดดที่ร้อนแรง จึงไม่ค่อยมีการใช้ประโยชน์เท่าไรนัก ส่วนใหญ่มักเอาไว้วางแทงก์น้ำหรือตากผ้าเท่านั้น แต่ในช่วงโควิด-19 นี้ลองมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าให้เย็นสบายห่างไกลความร้อน ด้วยการจัดสวนบนดาดฟ้า เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเติมออกซิเจนให้กับร่างกายกันดีกว่า 

การสร้างพื้นที่สวนบนดาดฟ้าทำได้ไม่ยาก แต่มีเทคนิคและข้อควรระวังบางประการเพื่อความปลอดภัยของตัวตึกและผู้อยู่อาศัย ดังนี้ 


1. ตรวจสอบโครงสร้างให้พร้อม

โครงสร้างดาดฟ้าที่จะทำสวนจะต้องรับน้ำหนักได้ 1-2 ตัน /ตรม. สำหรับรองรับน้ำหนักของต้นไม้ ดิน ของตกแต่งสวน และน้ำที่รดต้นไม้ ดังนั้นก่อนจะลงมือจัดสวนดาดฟ้า ต้องตรวจสอบโครงสร้างของอาคารให้แน่ใจก่อนว่ามีความแข็งแรงและปลอดภัยมากพอที่จะรับน้ำหนักดังกล่าว 

หากเป็นอาคารที่จะสร้างใหม่สามารถปรึกษาบริษัทรับสร้างบ้านให้ออกแบบโครงสร้างเผื่อทำสวนดาดฟ้าได้เลย แต่ถ้าหากเป็นอาคารเก่าควรปรึกษาวิศวกรว่าสามารถใช้โครงสร้างเดิม หรือ ต้องเพิ่มโครงสร้าง นอกจากนี้ยังต้องปรึกษาเรื่องรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพอาคาร 

 

2. กระจายน้ำหนักวัตถุให้เหมาะสม

ต้นไม้และของตกแต่งบางชิ้นอาจมีน้ำหนักมาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงควรวางตำแหน่งให้เหมาะสม โดยนำสิ่งของที่มีน้ำหนักมากจัดวางไว้บริเวณรัศมี เมตร รอบหัวเสา หรือ ช่วงคานพาดผ่าน เพื่อให้คานและหัวเสาช่วยรับน้ำหนักนั้น ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เพดานถล่ม 

 

3. ระบบน้ำต้องดี

ระบบน้ำ หมายถึง น้ำที่ใช้รดต้นไม้ ระบบระบายน้ำ และระบบกันน้ำรั่วซึม เพื่อไม่ให้มีปัญหากับโครงสร้างบ้านในระยะยาว  

  • ระบบการระบายน้ำ ต้องมีการวางท่อ และจุดระบายที่เหมาะสมอย่างน้อย 2 จุด นอกจากนี้ต้องมีระบบ Overflow เพื่อป้องกันท่ออุดตันจากใบไม้ร่วงและเศษดิน จนน้ำระบายไม่ทัน สร้างความเสียหายเข้าสู่อาคาร ผนัง และฝ้าเพดานที่อยู่ในชั้นด้านล่าง 

  • ระบบรดน้ำต้นไม้ ควรมีก๊อกน้ำอย่างน้อย 2 จุด เพื่อใช้สำหรับการรดน้ำทั้งแบบสายยาง หรือ แบบอัตโนมัติ 

  • ระบบกันซึม การทำสวนบนดาดฟ้ามักจะมีความชื้นสะสมในจุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้นต้องมีระบบกันซึมที่ดี เพื่อไม่ให้ความชื้นซึมผ่านเข้าไปที่เนื้อคอนกรีตจนทำให้สีผนังหลุดร่อน ฝ้าเพดานเสียหาย รวมไปถึงอาจทำให้อายุการใช้งานของโครงสร้างอาคารลดน้อยลง จนก่อให้เกิดอันตรายได้ในอนาคต 

 

4. ปรับพื้นลดความร้อน

อยากได้สวนดาดฟ้าที่สามารถเดินเล่นได้โดยไม่ร้อน ทำได้โดยการปรับแก้พื้นซีเมนต์ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี เช่น ปูพื้นไม้เพื่อช่วยกรองแสง จะเป็นไม้จริงหรือไม้เทียมก็ได้ ปูกระเบื้องทับพื้นซึ่งนอกจากจะช่วยลดความร้อนแล้ว ยังแก้ปัญหาน้ำซึมได้อีกด้วย แต่ต้องมีความลาดเอียงที่เหมาะสม 

 

5. เลือกพรรณไม้ให้เหมาะ

ดาดฟ้าจะรับแดดจัด และลมแรง ดังนั้นไม้ที่จะมาปลูกต้องทนแดดทนฝน สามารถอดน้ำได้ 3-4 วัน ไม่ควรเลือกพรรณไม้ที่มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หรือ มีขนาดความสูงที่ใหญ่โตมากจนเกินไป เพราะรากจะไม่สามารถยึดเกาะชั้นดินที่มีขนาดจำกัดบนชั้นดาดฟ้าได้อย่างเต็มที่ มีความเสี่ยงที่จะทำให้ต้นไม้ปลิวไปตามแรงลมได้ง่าย และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบๆ อาคาร  

พรรณไม้ที่เหมาะสมควรเป็นต้นที่ใบร่วงน้อย เพื่อลดปัญหาเก็บกวาด และควรเป็นต้นไม้ที่มีระบบรากฝอย เพื่อประโยชน์ในการยึดลำต้นของตัวมันเอง และลดปัญหารากต้นไม้ทำลายโครงสร้างอาคาร หากไม่มีเวลาขึ้นไปดูแลสวนดาดฟ้ามากนักก็ควรเลือกต้นไม้ตระกูล แคคตัส ยูโฟเบีย และกลุ่มไม้อวบน้ำทั้งหลาย ที่ชอบแดด ต้องการน้ำน้อย ไม่ต้องการการตัดแต่ง และยิ่งโตก็ยิ่งมีรูปทรงสวยงาม 

 

6. เลือกภาชนะที่หนัก

จุดที่ต้องระวังในการสร้างสวนดาดฟ้าคือ “ลม” ดังนั้นการเลือกภาชนะปลูกต้นไม้นอกจากจะเลือกให้สวย เหมาะกับต้นไม้ แล้วยังต้องมีน้ำหนักด้วย เพื่อไม่ให้ลมพัดจนภาชนะปลูกเคลื่อนที่หรือล้มได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องคำนึงถึงโครงสร้างอาคารด้วยว่ารับน้ำหนักได้มากแค่ไหน 

 

จะเห็นได้ว่าการสร้างพื้นที่พักผ่อนบนดาดฟ้า สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องน้ำหนัก และน้ำ ที่หากเกิดปัญหากับโครงสร้างหลัก จะทำให้ตัวบ้านเกิดปัญหาได้ ดังนั้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทรับสร้างบ้านก่อนเริ่มจัดสวน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

สนับสนุนบทความโดย 

 

บริษัท มีนบุรีรับสร้างบ้าน คุณภาพ จำกัด 

ที่อยู่ : เลขที่ 75/11 ซ.ร่มเกล้า ถ.ร่มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510 

โทรศัพท์ : 0 2919 4653 

อีเมลThis email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  

เว็บไซต์www.bannmean.com  

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154