<
ในช่วงหน้าฝน อากาศจะมีความชื้นสูงและสิ่งที่แฝงมากับความชื้นคือ เชื้อรา สิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะทำให้ข้าวของเสียหาย สปอร์ของเชื้อราหากเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ตามมา เช่น หากเข้าตาและจมูกจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล มีไข้ บางรายก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และปอดอักเสบด้วย เชื้อราเกิดจากอะไรและจะป้องกันแก้ไขได้ไหม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มีคำตอบมาฝาก
สาเหตุของเชื้อราในบ้าน
เชื้อราภายในบ้านนั้นมักจะเกิดจากความชื้นที่สะสมอยู่ภายในบ้าน หากบริเวณห้องแสงแดดส่องไม่ถึงหรือไม่ค่อยมีแสงด้วยแล้ว เชื้อรายิ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เช่น ในห้องน้ำ ห้องครัว ปัจจัยสำคัญของการเกิดเชื้อราในห้องจึงอยู่ที่ความชื้น ถ้าเราควบคุมไม่ให้เกิดความชื้น โอกาสที่เชื้อราในห้องจะเกิดก็จะน้อยลงไป
ความชื้นที่เหมาะสมในบ้านควรเป็นอย่างไร?
จริงๆ แล้วความชื้นก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด ในบ้านจำเป็นต้องมีความชื้นอยู่เพื่อให้เกิดความสบายตัว ผิวหนังไม่แห้งแตก หายใจได้สะดวก แต่ก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยทั่วไปแล้วความชื้นภายในควรอยู่ระหว่าง 20- 50% ซึ่งในช่วงหน้าฝนสภาพอากาศในเมืองไทยมักจะมีความชื้นเกินกว่า 50 % อยู่แล้ว จึงมักทำให้เกิดปัญหากับเชื้อรากวนใจ
จะรู้ได้อย่างไรว่าบ้านมีความชื้นมากไป?
สามารถใช้อุปกรณ์วัดที่เรียกว่าไฮโกรมิเตอร์ วัดค่าความชื้นได้ หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวให้ใช้หลักการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบบ้านว่าเข้าข่ายลักษณะดังนี้หรือไม่ หากพบเห็นให้ระวังเชื้อราได้เลย
- สีทาผนัง ปูน หรือวอลล์เปเปอร์ มีการลอกร่อน มีรอยน้ำ ความอับชื้น หรือเชื้อราดำๆ
- เฟอร์นิเจอร์ พรม ไม้ปาเก้ปูพื้น มีร่องรอยบวมน้ำหรือเป็นรา
- พบการรั่วซึมของน้ำที่พื้น รอยแตกของผนัง ขอบวงกบประตูหน้าต่าง
- พบหยดน้ำเกาะตามท่อน้ำ
- มีกลิ่นอับชื้น
ระดับความเสียหายของเชื้อราที่อันตรายต่อสุขภาพ
ถ้าพบเชื้อราไม่มากก็อาจมีปัญหาแค่ทำให้ดูสกปรก น่ารังเกียจ แต่ถ้าเป็นระดับปานกลางก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านและสิ่งของเครื่องใช้ แต่ถ้าเป็นขั้นรุนแรงจะกระทบถึงสุขภาพของคนอยู่อาศัย โดยเชื้อรามักจะทำให้เกิดภูมิแพ้และปอดอักเสบ ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุได้รับผลกระทบจากเชื้อราได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ
วิธีป้องกันและแก้ไขบ้านจากความชื้น
สำหรับบ้านที่อยู่ระหว่างก่อสร้างควรวางแผนป้องกันความชื้นไว้ตั้งแต่แรก เพื่อไม่ต้องทำสงครามระยะยาวกับความชื้นในภายหลัง ดังนี้
- เลือกทำเลสร้างบ้านที่เหมาะสม ไม่มีน้ำขัง ระบายน้ำได้ง่าย ไม่อยู่ต่ำกว่าถนน
- ออกแบบบ้านให้มีกันสาดเพื่อป้องกันตัวบ้านจากละอองฝน
- สร้างบ้านยกพื้นสูงขึ้นจากระดับพื้นดินเพื่อให้มีพื้นที่ระบายความชื้นหากสร้างบ้านติดพื้นดินให้ป้องกันความชื้นด้วยการปูแผ่นพลาสติกหรือวัสดุกันซึม หรือเทคอนกรีตรองพื้นก่อนทำพื้นบ้าน พร้อมทำระดับท้องรางระบายน้ำให้ต่ำเพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้เร็ว (แต่ต้องไม่ต่ำกว่าทางระบายน้ำสาธารณะ)
- หลังคาเป็นส่วนที่รับแดดรับฝนตลอดทั้งปี ในหน้ามรสุมจึงมีโอกาสเกิดความชื้นสะสม ดังนั้นต้องออกแบบหลังคาให้ลาดเอียงเพื่อระบายน้ำออกจากหลังคาให้เร็วที่สุดหลังคาควรมีรอยชนของผืนหลังคาไม่ลึกมาก เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมขังตามรอยต่อของหลังคา โครงสร้างเพดาน ฝ้า และหลังคา ใช้วัสดุป้องกันไอน้ำ (vapor barriers) หรือวัสดุกันความชื้น เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น
- ออกแบบให้ตัวบ้านมีช่องแสงและช่องลมขนาดใหญ่ เลือกจุดติดตั้งที่เหมาะสมหลายๆ จุด เพื่อให้บ้านได้รับแสงแดดเข้ามากำจัดความชื้น และระบายความชื้นออกจากตัวบ้านได้ดี
- โครงสร้างคอนกรีตที่ติดกับดิน ควรผสมน้ำยากันซึมระหว่างผสมคอนกรีต ช่วยป้องกันความชื้นซึมเข้าเนื้อคอนกรีต ทำให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น
- รอยต่อของกำแพง เช่น วงกบ กรอบหน้าตา รอยต่อกับพื้น ต้องปิดสนิทไร้รอยรั่ว เพื่อป้องกันการแทรกซึมของน้ำและความชื้นเข้าตัวสู่ตัวบ้าน
- ไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้ตัวอาคารมากเกินไป เพราะต้นไม้เป็นตัวสะสมความชื้นและอาจบังทิศทางลม
การสร้างบ้านนั้น นอกจากความสวยงามแล้วยังต้องคำนึงถึงความแข็งแรงและปลอดภัยด้วย การเลือกออกแบบให้ห้องดูโปร่งและมีการถ่ายเทอากาศที่ดี จะช่วยให้เราห่างไกลจากเชื้อราในห้องและโรคต่างๆ ที่จะตามมาได้ และหากได้บริษัทรับสร้างบ้านที่มีประสบการณ์สูง ก็จะช่วยให้ได้บ้านที่ก่อสร้างมีมาตรฐานและถูกหลักวิธีในการก่อสร้าง ช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดในภายภาคหน้าอีกด้วย
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท มีนบุรีรับสร้างบ้าน คุณภาพ จำกัด
ที่อยู่ : เลขที่ 75/11 ซ.ร่มเกล้า ถ.ร่มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510
โทรศัพท์ : 0 2919 4653
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.bannmean.com