ครั้งแรก “ส.รับสร้างบ้าน” ผนึก “จุฬา” คลอดมาตรฐานก่อสร้าง แก้ปัญหาทิ้งงาน
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 12,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นทั้งเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยได้ปัจจัยหนุนกลุ่มบ้านระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้คนมีรายได้สูงและมีที่ดินราคาแพงในกรุงเทพฯนำมาสร้างบ้านอยู่อาศัยมากขึ้นในปีนี้ ส่วนบ้านระดับต่ำกว่า 5 ล้านบาท ยังไม่ฟื้นตัวลดลง 10-15% เพราะยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การปรับขึ้นดอกเบี้ยและวัสดุก่อสร้าง คาดว่าตลาดกลุ่มนี้จะกลับมาพื้นตัวได้หลังปี 2566 ทั้งนี้แม้ยังมีปัจจัยลบ ยังมั่นใจว่าธุรกิจรับสร้างบ้านยังเติบโตได้ดีในปี 2566
นายวรวุฒิกล่าวว่า จากแนวโน้มธุรกิจรับสร้างบ้านที่ขยายตัว สมาคมเร่งพัฒนาคุณภาพให้กับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกและยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย จะเริ่มใช้กับสมาชิกสมาคม 130 บริษัทก่อนในต้นปี 2566 จากนั้นปลายปี2567 ให้ประชาชนนำไปใช้ได้หลังปรับเนื้อหาและราคาแล้วเสร็จ เพราะอาจมีบางรายการส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น เช่น เสาเอนทับหลังจะเพิ่ม 1%
“มาตรฐานฉบับนี้ เราใช้เวลา 3 ปี ในการผลักดัน โดยเป็นการทำงานร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น เอสซีจี ร่างขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลาดบ้านสร้างเองมีมูลค่าปีละเกือบ 2 แสนล้าน ผู้บริโภคมักเจอปัญหาถูกทิ้งงานและสร้างบ้านไม่มีคุณภาพ จึงต้องทำมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพราะในมาตรฐานี้จะกำหนดไว้ชัดเจน เช่น ข้อมูลของผู้ดำเนินการ การปรับปรุงแก้ไข หน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร เป็นต้น ยังทำให้รับเหมาะรายย่อยเข้ามาสู่ระบบเรามากขึ้นด้วย”นายวรวุฒิกล่าว
นายวรวุฒิกล่าวว่า สำหรับตลาดซ่อมแซมบ้านจะมีการขยายตัวมากขึ้นในปีนี้ หลังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการซ่อมแซมบ้านจะมากขึ้น แต่เนื่องจากปีนี้ราคาวัสดุปรับสูงขึ้นกว่า 20% ทำให้ค่าซ่อมบ้านเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 8 หมื่นบาทต่อหลัง เป็น 1 แสนบาทต่อหลัง