บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

8 แนวทางการออกแบบบ้านยุคใหม่เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส

15
ก.ค.
2565

 

 

สืบเนื่องจากสภาวการณ์เชื้อโรคแพร่ระบาดครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้กระทบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วทุกหนแห่งเป็นอย่างมาก ทั้งการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ที่ต้องสะอาด เว้นระยะห่าง เพื่อความปลอดภัย รวมถึงในส่วนของบ้านและการอยู่อาศัยก็มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับยุค New-Normal เช่นกัน ดังนั้นแนวทางการออกแบบบ้านในยุคนี้ จึงต้องเน้นที่ความสามารถในการป้องกันเชื้อโรค ซึ่งสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้นำ 8 แนวทางการออกแบบบ้านยุคใหม่เพื่อป้องกันเชื้อโรคไวรัส มาฝากกัน ส่วนจะมีรายละเอียดอะไรบ้าง เราได้รวบรวมมาไว้ในบทความนี้แล้ว

 

8 แนวทางการออกแบบบ้านยุคใหม่เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส

 
1. ออกแบบพื้นที่สกัดเชื้อโรคตั้งแต่หน้าบ้าน

เชื้อโรคมีอยู่ทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ ดังนั้นก่อนจะเข้าสู่ตัวบ้านอันเป็นสถานที่พักผ่อนที่แสนปลอดภัย จึงควรมีด่านสกัดเชื้อโรคให้สมาชิกได้ทำความสะอาดร่างกายขับไล่เชื้อกันก่อนก้าวเท้าเข้าสู่ภายในบ้าน เพื่อให้บ้านเป็นสถานที่ปลอดภัยและปลอดเชื้อ เช่น ติดตั้งจุดแอลกอฮอล์ไว้บริเวณทางเข้าบ้าน จัดทำอ่างล้างมือที่บริเวณหน้าบ้าน หรือทางเข้าสวน เพื่อให้สมาชิกและผู้มาเยือนได้ล้างมือและทำการฆ่าเชื้อก่อน

 
2. ออกแบบจุดเก็บรองเท้า

รองเท้าถือเป็นสิ่งที่สัมผัสกับเชื้อโรคจากภายนอกได้มากที่สุด จึงไม่ควรนำเข้ามาในบ้าน และเพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อโรค การออกแบบจุดเก็บรองเท้าไว้ด้านนอก โดยอาจจะทำเป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับวางของ หรือจัดทำตู้เก็บของแบบปิดมิดชิด หรือจะออกแบบให้มีตู้เก็บรองเท้าและที่นั่งถอดรองเท้าไว้นอกบ้าน จะช่วยให้สมาชิกได้ทำความสะอาดรองเท้าฆ่าเชื้อโรคก่อนถอดเก็บ และไม่เป็นการนำพารองเท้าที่มีเชื้อโรคและความสกปรกเข้ามาในตัวบ้าน

 
3. เลือกใช้อุปกรณ์ไร้มือสัมผัส

จุดสัมผัสต่างๆ คือจุดเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคแพร่มาสู่ตัวเรา ดังนั้นตั้งแต่เกิดโรค Covid-19 ระบาด ทำให้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตให้ลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงรับเชื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่งผลต่อการออกแบบบ้านในอนาคตด้วย นั่นคือการงดใช้ของส่วนกลางร่วมกัน และปรับอุปกรณ์ให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น ประตูอัตโนมัติ ก๊อกน้ำระบบเซนเซอร์ หรือระบบสั่งการด้วยเสียงเพื่อเปิด-ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า

 
4. จัดพื้นที่รับพัสดุลดการสัมผัส

การซื้อของออนไลน์และการสั่งอาหารผ่าน Application กลายเป็นเรื่องปกติในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้ในแต่ละวันเราต้องพบปะรับสิ่งของจากขนส่งมากหน้าหลายตา เพิ่มโอกาสความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายและบ่อยขึ้น ดังนั้นการออกแบบพื้นที่รับ-ส่ง พัสดุโดยไม่ต้องพบปะกันในระยะใกล้ชิด แต่ยังเชื่อมโยงสู่พื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นๆ ได้ง่ายและสะดวกสบายจึงเหมาะกับบ้านในยุคนี้ โดยอาจจะจัดทำส่วนรับพัสดุไว้นอกบ้าน เพื่อให้ไรเดอร์หรือบริษัทขนส่งวางเอาไว้ แล้วจึงค่อยทำความสะอาดก่อนนำเข้าบ้าน จะปลอดภัยกว่าและลดโอกาสเสี่ยงได้ดีกว่า

 

 
5. จุดเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ต้องให้ความสำคัญ

ออกแบบห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ใส่ออกนอกบ้านเป็นชุดสะอาดก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน โดยอาจจะเป็นห้องที่เชื่อมต่อกับโซนซักล้างทำความสะอาด หรือเป็นเพียงตู้เก็บเสื้อผ้าที่เตรียมไว้สำหรับเปลี่ยนพร้อมตะกร้าแบบมีฝาปิดสำหรับใส่เสื้อผ้าใช้แล้ว หากสามารถจัดให้เป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องผ่านเข้าตัวบ้านได้จะดียิ่ง นอกจากนี้การปรับตำแหน่งห้องอาบน้ำให้ใกล้ทางเข้าบ้าน หรือผ่านตัวบ้านให้น้อยที่สุด เพื่อให้สมาชิกที่กลับมาจากไปข้างนอกได้ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้า อีกทั้งเป็นห้องน้ำสำหรับแขกซึ่งจะไม่ต้องเดินเข้าไปด้านในบ้าน ก็เป็นอีกแนวทางการออกแบบที่เหมาะกับสถานการณ์โรคระบาด

 
6. แยกพื้นที่เก็บสิ่งของสำหรับใช้นอกบ้าน

สิ่งของบางอย่างก็ใช้สำหรับการออกนอกบ้าน เช่น รองเท้า ร่ม เสื้อคลุมทำงาน กระเป๋าผ้า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในบ้าน หากเราออกแบบพื้นที่จัดเก็บสิ่งของเหล่านี้โดยไม่ต้องนำพาเข้าบ้าน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเชื้อโรคลงได้อีกมาก ดังนั้นเพื่อลดการนำสิ่งของไม่จำเป็นเข้าสู่ตัวบ้าน จึงควรออกแบบพื้นที่จัดเก็บของ โดยอาจจะเป็น ตู้ ชั้นและราวสำหรับเก็บของในพื้นที่โซนนอกบ้าน

 
7. แยกโซนภายในกับภายนอกบ้านให้ชัดเจน

พื้นที่แรกที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างภายนอกกับภายในบ้าน คือ โถงทางเข้าบ้าน เพื่อลดสิ่งสกปรกที่จะเข้ามาสู่ตัวบ้าน ควรออกแบบแยกพื้นที่ให้ชัดเจน เช่น ปรับพื้นภายในบ้านให้สูงกว่าพื้นโถงทางเข้า 10-15 เซนติเมตร ทำประตูกั้นแยกโซนที่เสี่ยงรับเชื้อจากภายนอก กับบริเวณภายในบ้านอีกชั้นเพื่อลดการกระจายเชื้อ และจัดให้มีช่องระบายอากาศหรือพัดลมดูดอากาศเพื่อช่วยหมุนเวียนอากาศในโถงทางเข้า

 
8. บ้านมัลติฟังก์ชัน

บ้านในยุคเชื้อโรคครองเมืองต้องเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย เพราะต้องปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำงาน หรือห้องเรียนได้เสมอในกรณีฉุกเฉิน ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต เพื่อความคล่องตัวและพร้อมใช้สอยได้ทุกสถานการณ์

 

การสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง นอกจากการดีไซน์ตามความชอบของแต่ละบุคคล และความแข็งแรงปลอดภัยแล้ว ยังต้องมองการณ์ไกลถึงอนาคตด้วย เพราะบ้านหนึ่งหลังเราต้องอยู่อาศัยนานหลายสิบปี ซึ่งการตัดสินใจครั้งใหญ่นี้หากเลือกมอบความไว้วางใจให้กับบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพที่ทำงานมีมาตรฐาน และมีประสบการณ์สูง บริษัทรับสร้างบ้านเหล่านี้จะมีแนวทางการออกแบบ และเทคนิคการสร้างบ้านที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ให้ลูกค้าได้บ้านที่ปลอดภัย แข็งแรง สวยงาม และรองรับการอยู่อาศัยในระยะยาวอย่างแน่นอน

 

สนับสนุนบทความโดย

บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด

1 อาคารเก้าพูลทรัพย์ ชั้น 3, 8 ซอยลาดพร้าว 19 ถนนลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทรศัพท์ : 0 2938 3456

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.landyhome.co.th 

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154