บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

ข้อควรรู้! วางระบบไฟฟ้าภายในบ้านอย่างไรให้อยู่อาศัยได้ปลอดภัย?

27
มิ.ย.
2565

 

 

ระบบไฟ แม้จะเป็นงานเทคนิคที่ต้องอาศัยช่างในการติดตั้งดำเนินการ แต่ระบบไฟก็สามารถออกแบบเพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถแก้ไขดูแลเองได้เช่นกัน โดยแยกเป็นระบบเดินสายไฟแบบฝังในผนัง และ เดินไฟแบบลอย ซึ่งการวางระบบไฟทั้งสองแบบนี้นอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามให้ตรงตามสไตล์บ้านแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เพื่อการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย

 

การวางระบบไฟฟ้า

การวางระบบไฟ ถูกแยกออกเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือแบบฝังดิน และแบบลอย โดยการวางระบบไฟทั้งสองแบบ จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสไตล์ของบ้าน เช่น หากแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์จะเน้นโชว์ระบบต่างๆ การเดินสายไฟจึงจะเป็นแบบลอย ระบบไฟจะถูกซ่อนในท่อ PVC หรือ ปล่อยสายเปลือยโชว์ดีไซน์ หากสร้างบ้านใหญ่ โมเดิร์นโชว์ความหรูหรา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเก็บสายไฟ ระบบต่างๆ ให้เรียบร้อย ไว้ในผนังเพื่อความสวยงาม

 

การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย


1. เมนสวิตช์ หรือ สวิตช์ประธาน

เป็นอุปกรณ์ตัวหลักที่ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าของสายเมนเข้าบ้านกับสายภายในทั้งหมด จึงเป็นอุปกรณ์ปลดวงจรไฟฟ้าตัวแรกจากมิเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาในบ้าน


2. เซอร์กิตเบรกเกอร์ หรือสวิตช์ตัดไฟอัตโนมัติ

เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ตัดหรือต่อวงจรไฟฟ้าได้ในขณะใช้งานปกติ และยังสามารถตัดกระแสไฟฟ้าเกินหรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจรโดยอัตโนมัติได้ด้วย ทั้งนี้การเลือกใช้เบรกเกอร์ต้องเลือกขนาดพิกัดในการตัดกระแสลัดวงจรของเบรกเกอร์ให้สูงกว่าขนาดกระแสลัดวงจรที่เกิดขึ้นในวงจรนั้นๆ ในส่วนนี้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญการอ่านค่าต่างๆ แนะนำ


3. เครื่องตัดไฟรั่ว

จะตัดอัตโนมัติเมื่อพบว่ากระแสไฟฟ้าเกิดการไหลเข้าและออกไม่เท่ากันที่จำนวนหนึ่ง อาจเกิดจากการรั่วไหลไปยังวัตถุหรือสมาชิกผู้อยู่อาศัยในบ้าน ซึ่งเครื่องตัดไฟรั่ว ไฟดูดนี้ จะมีค่ามาตรฐานกำหนดการเลือกใช้ทั้งแบบบ้านเรือน โรงงาน หรือบริเวณที่ใช้งานต่างกันออกไป


4. ท่อเดินสายไฟและเคเบิล

รองรับสายเคเบิลและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการนำส่งไฟฟ้าโดยเฉพาะ เมื่อนำมาใช้งานต้องมีความปลอดภัยสูง สวยงาม ไม่ขัดต่อทัศนียภาพ และที่สำคัญคือต้องไม่เจอแดดฝนที่ทำให้เสื่อมสภาพได้ง่าย โดยเลือกใช้งานตามประเภท และความเหมาะสม เช่น

  • ท่อโลหะ ผลิตจากเหล็กกล้า มีทั้งหนาและบาง เพื่อการใช้งานที่ปลอดภัยท่อจะต้องไม่คมตรงขอบด้านในของท่อบริเวณรอยตัดทุกจุด เพื่อป้องกันไม่ให้ขอบท่อบาดสายไฟขณะทำการดึงร้อยสาย
  • ท่อพีวีซี ท่อที่ใช้จะต้องเป็นท่อสีเหลืองซึ่งผลิตสำหรับงานร้อยสายไฟโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความแข็งแรงและทนต่ออุณหภูมิสูง ขนาดของท่อที่ใช้ควรใหญ่พอสำหรับจำนวนสายไฟที่ร้อยในแต่ละท่อ และไม่ควรร้อยสายไฟจนคับท่อเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ดึงสายไฟลำบากขณะร้อยแล้ว ยังทำให้เกิดความร้อนสะสมในขณะใช้งานด้วย


5. สายดิน

มีไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้า โดยปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต่อลงดิน ส่วนปลายอีกด้านจะต่อเข้ากับวัตถุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับพื้นดิน และสายดินควรทำงานร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันวงจร เช่น ฟิวส์ หรือเบรกเกอร์

 


6. เต้ารับ หรือปลั๊กตัวเมีย

อุปกรณ์สำหรับรองรับการเสียบหัวที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติเต้ารับจะติดตั้งอยู่กับที่ โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่กับผนังบ้านตำแหน่งต่างๆ


 7. หลักดิน

มีลักษณะเป็นแท่งหรือแผ่นโลหะที่ฝังอยู่ในดินเพื่อทำหน้าที่แพร่หรือกระจายประจุไฟฟ้าให้ไหลลงสู่พื้นดินได้โดยสะดวก โดยวัสดุที่นำมาใช้เป็นหลักดิน เช่น แท่งทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มม. และมีความยาวมาตรฐานไม่น้อยกว่า 2.40 ม.


8. สายต่อหลักดิน

เป็นสายตัวนำที่ใช้ต่อระหว่างหลักดินกับส่วนที่ต้องต่อลงดิน ซึ่งในที่นี้หมายถึงสายที่ต่อระหว่างหลักดินกับขั้วต่อสายศูนย์ (นิวทรัล) หรือกับขั้วต่อสายดินในแผงสวิตช์ประธาน (ตู้เมนสวิตช์) เพื่อให้ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้ามีการต่อลงดิน

 

ขนาดของสายต่อหลักดิน ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าที่กำหนดไว้ตามรายละเอียดในตาราง

(ที่มา : การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยขนาดต่ำสุดของสายต่อหลักดิน)

 


 9. สายไฟฟ้า

ทำหน้าที่ส่งพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟยังจุดรับโดยทั่วไปสามารถจำแนกสายไฟได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ
  • สายไฟฟ้าแรงดันสูง

การจะเลือกวางระบบไฟฟ้าแบบไหน ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยปกติทั่วไปสายไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 7-8 ปี เมื่อพบว่าฉนวนที่หุ้มสายไฟเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเริ่มกรอบแตก ก็ควรเปลี่ยนสายไฟใหม่ โดยไม่ต้องรอให้หมดอายุก่อน เพื่อป้องกันการลัดวงจรที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ซึ่งในแต่ละจุดมีการซ่อมบำรุงดูแลไม่เหมือนกัน

 

การวางระบบไฟฟ้าภายในบ้าน


1. แบบฝังผนัง

เป็นการเดินสายไฟบ้านในผนังโดยร้อยสายผ่านท่อสายไฟที่ฝังอยู่ในผนัง

  • ข้อดี คือ มีความเรียบร้อย สวยงาม ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว
  • ข้อเสีย คือ หากเกิดปัญหาแล้วต้องซ่อม การตรวจสายไฟสามารถทำได้ยาก หรือจำเป็นต้องทุบผนังเพื่อตรวจสอบระบบ ซึ่งหากสายไฟเกิดชำรุดอยู่ในจุดที่มองไม่เห็น อาจจะทำให้เกิดอันตรายจากไฟรั่ว


2. แบบเดินลอย

เป็นการเดินสายไฟบ้านโดยยึดสายไฟให้ติดกับผนังหรือเสาที่เชื่อมต่อไปยังเต้ารับและเครื่องใช้ไฟฟ้า

  • ข้อดี คือ มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า สามารถตรวจสอบและซ่อมแซมได้ง่าย สามารถมองเห็นใด้ด้วยตาเปล่า
  • ข้อเสีย คือ หากเดินสายไฟไม่เรียบร้อยจะทำให้ดูไม่สวยงาม โดยเฉพาะหากมีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากอาจทำให้จำนวนสายไฟดูรกเต็มผนังบ้าน และเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายและเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานหรือผู้อยู่ใกล้ชิดได้

การเดินสายไฟแบบเดินลอยในปัจจุบันมีการร้อยสายไฟผ่านท่อพิวีซีหรือท่อเหล็ก ทำให้ดูเรียบร้อยและสวยงามมากขึ้น

 

การเลือกอุปกรณ์และการวางระบบไฟฟ้าภายในบ้าน อาจดูเป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องมีช่างมากประสบการณ์คอยดูแล แต่ในฐานะเจ้าของบ้านแล้วการรู้จักอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัย จะช่วยให้รู้แนวทางการแก้ไขไฟตก ไฟดับ หรือเพื่อการซ่อมบำรุง ให้ความอุ่นใจ ในความปลอดภัยทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินแก่สมาชิกในบ้านได้เช่นกัน

 

สนับสนุนบทความโดย

     

บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด

1148 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

โทรศัพท์ : 0 2459 4646

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.royalhouse.co.th 

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154