บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

7 สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

14
มิ.ย.
2567


 

7 สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

"บ้าน" ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่คือพื้นที่แห่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยเกษียณที่ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน การออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยและอุ่นใจของผู้สูงวัย วันนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จึงขอนำเสนอ " 7 สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ" เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจปรับปรุงบ้านเดิม หรือกำลังมองหารับสร้างบ้านมืออาชีพ เพื่อออกแบบบ้านหลังใหม่สำหรับผู้สูงวัย ได้นำไปปรับใช้ให้ตรงความต้องการมากที่สุด

1. ทางลาดและราวจับ

การออกแบบทางลาดและราวจับเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผู้สูงอายุมักประสบปัญหาเรื่องข้อเข่าและกล้ามเนื้อขาที่อ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถก้าวขึ้นลงบันไดได้อย่างสะดวกและมั่นคง จึงจำเป็นต้องใช้ทางลาดที่มีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และกว้างอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินหรือใช้รถเข็นได้อย่างปลอดภัย ส่วนราวจับที่สูงจากพื้น 80-90 ซม. และยื่นจากผนัง 4 ซม.จะเป็นที่พยุงตัว ช่วยทรงตัวระหว่างการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้มได้เป็นอย่างดี

2. ห้องน้ำที่ออกแบบเหมาะสม

ห้องน้ำเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้มในผู้สูงอายุ จึงต้องออกแบบอย่างรอบคอบ โดยเลือกใช้ประตูเปิดออกด้านนอก เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น และต้องกว้างอย่างน้อย 90 ซม. ให้รถเข็นผ่านเข้าออกได้ ภายในต้องมีพื้นที่โล่งสำหรับหมุนตัวของรถเข็นได้สะดวก เพราะผู้สูงอายุบางรายอาจต้องพึ่งพารถเข็นในการเคลื่อนไหว นอกจากนี้การเลือกใช้สุขภัณฑ์แบบนั่งราบ สูงจากพื้น 45-50 ซม. พร้อมราวจับ จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ห้องน้ำได้อย่างถนัดและปลอดภัยมากขึ้น

3. ประตูและทางเดินกว้างพอสำหรับรถเข็น

เนื่องจากผู้สูงอายุอาจต้องใช้รถเข็นในการเคลื่อนที่ ประตูและทางเดินทั่วทั้งบ้านจึงต้องกว้างเพียงพอ โดยประตูควรกว้างสุทธิอย่างน้อย 90 ซม.และมีธรณีประตูต่ำไม่เกิน 2 ซม. เพื่อให้รถเข็นผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัด ส่วนทางเดินต้องกว้างอย่างน้อย 120 ซม. เพื่อให้รถเข็น 2 คันสามารถสวนกันได้ โดยปูพื้นด้วยวัสดุผิวเรียบ ไม่ลื่น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข็นรถ พร้อมลดความเสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม เมื่อผู้สูงอายุเดินเองหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดินต่างๆ ทำให้ปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น

4. พื้นที่ใช้สอยเหมาะสม

จัดวางของใช้ให้เอื้อมถึงง่าย ไม่วางของรกรุงรัง เพื่อลดความเสี่ยงหกล้ม จัดเฟอร์นิเจอร์ให้เข้าถึงได้ง่าย โดยการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดและความสูงพอดี ไม่เตี้ยหรือสูงเกินไป เช่น เตียงนอนควรสูง 45-50 ซม. โซฟานั่งควรสูงประมาณ 45 ซม.จัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบเว้นระยะห่าง ไม่ควรชิดกันแน่นเกินไป เพื่อให้เดินหรือเข็นรถเข็นผ่านได้สะดวก ตู้เก็บของ ชั้นวางของ ควรเป็นแบบที่เปิด-ปิด หยิบใช้ได้ง่าย ไม่ต้องใช้แรงมาก หรือเลือกเป็นแบบลิ้นชักดีกว่าบานเปิดที่ต้องยืนถือค้างไว้

5. แสงสว่างเพียงพอ ทั้งกลางวันและกลางคืน

เนื่องจากตาผู้สูงอายุมักมองเห็นไม่ชัดเพราะสายตาที่เสื่อมถอยลงมาก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จึงควรจัดแสงสว่างในบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้ ควรเลือกใช้หลอดไฟ LED สีวอร์มไวท์หรือนิวทรัลไวท์ แสงสว่างในระดับ 400-800 ลักซ์ ที่ให้ความสว่างเพียงพอแต่ไม่จ้าจนแสบตา ติดตั้งให้ทั่วถึงในทุกห้อง ทั้งไฟหลักและไฟเฉพาะจุด พร้อมเลือกใช้สวิตช์ไฟแบบปุ่มกดขนาดใหญ่ ติดตั้งในระดับที่สามารถเอื้อมถึงได้ง่าย อาจใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดปิดไฟโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะบริเวณทางเดินที่มีความเสี่ยง และไม่ลืมติดตั้งไฟฉุกเฉินหรือไฟนำทางเพื่อใช้เมื่อไฟดับ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้สูงอายุในบ้าน

6. อุปกรณ์ฉุกเฉินและระบบแจ้งเตือน

สำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉินและระบบแจ้งเตือน ควรติดตั้งปุ่มกดฉุกเฉินตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังควรติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับการหกล้ม ที่จะแจ้งเตือนผู้ดูแลโดยอัตโนมัติเมื่อตรวจพบว่ามีผู้สูงอายุล้มลงกับพื้น เครื่องตรวจจับควันไฟและแก๊สรั่วในบริเวณเสี่ยงอย่างห้องครัว รวมถึงควรมีติดตั้งกล้องวงจรปิดและระบบเตือนภัยเพื่อความปลอดภัย อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยทั้งแก่ผู้สูงอายุเองและญาติผู้ดูแล เพราะสามารถป้องกัน รับมือ และแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

7. สิ่งแวดล้อมเพื่อการมีส่วนร่วมและทำกิจกรรม จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดี ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

สามารถทำได้โดยการจัดสวนหรือพื้นที่สีเขียวให้มีมุมพักผ่อน ปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับ หรือจัดแปลงปลูกผักสวนครัว เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมที่สร้างความสุข

นอกจากนี้ ควรออกแบบพื้นที่ในบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น ให้เป็นมุมอเนกประสงค์ที่รองรับการทำกิจกรรมหลากหลาย ทั้งเสวนา เล่นเกม ทำงานอดิเรก หรือเพื่อความบันเทิง ผ่อนคลาย นอกจากนี้ ควรมีมุมสำหรับทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพหรือกายภาพบำบัด โดยจัดให้มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างบรรยากาศในบ้านให้อบอุ่น ผ่อนคลาย เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทั้งกายใจของผู้สูงวัย


ในการออกแบบและปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการใช้งานที่เอื้อต่อสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยแล้ว การเลือกใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญก็นับเป็นสิ่งสำคัญ โดย "สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน" ถือเป็นองค์กรที่รวบรวมบริษัทรับสร้างบ้านและรับออกแบบบ้านชั้นนำ ที่พร้อมให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการปรับแต่งบ้านให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี และประสบการณ์ ที่จะช่วยสร้างหรือดัดแปลงบ้านให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย น่าอยู่ และเกื้อหนุนต่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

 

 

 

สนับสนุนบทความโดย



สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน Home Builder Association

ที่อยู่ : 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

โทรศัพท์ :  0-2570-0153,0-2940-2744

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เว็บไซต์ : https://hba-th.org/ 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154