บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

แบบบ้านสำคัญอย่างไร? ทำไมการสร้างบ้านจึงไม่ควรรื้อแบบ

07
ม.ค.
2565

 

 

ว่าด้วยเรื่องการสร้างบ้านอยู่อาศัยแทนการซื้อบ้านพร้อมอยู่ การเลือกแบบบ้านและบริษัทรับสร้างบ้านที่จะเข้ามาสานต่อความต้องการให้ได้บ้านแบบที่อยากได้นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ และมากกว่านั้นคือเมื่อเจ้าของบ้านตกลงเรื่องแบบกับบริษัทรับสร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องยึดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ และไม่ควรแจ้งรื้อแบบกลางคันหากไม่จำเป็น เพราะนั่นหมายถึงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมามากมาย ซึ่งจะมีเรื่องไหนบ้างนั้นไปติดตามรายละเอียดกันค่ะ

 
แบบบ้านสำคัญอย่างไร?

ทุกการก่อสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแบบที่หามาเองตามอินเทอร์เน็ต นิตยสาร หรือการให้สถาปนิกจากบริษัทรับสร้างบ้านออกแบบให้ ต่างก็ต้องผ่านการขออนุญาตเพื่อดำเนินการก่อสร้างจากหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต. ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างนั้นต้องมีวิศวกรหรือสถาปนิกเป็นผู้เซ็นรับรองแบบด้วยจึงจะสามารถปลูกสร้างได้
ความสำคัญของแบบบ้านในด้านต่างๆ

  • ระยะเวลาการก่อสร้าง ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนแบบระหว่างการก่อสร้าง จะส่งผลให้บ้านสร้างเสร็จไม่เป็นไปตามกำหนด ยิ่งหากบริษัทรับสร้างบ้านมีคิวงานสร้างคิวอื่นที่ต้องรันต่อ หรือเมื่อเปลี่ยนแบบแล้วระยะเวลาก่อสร้างยืดไปจนถึงช่วงหน้าฝน ที่การก่อสร้างหรือขนส่งไม่สะดวก อาจกระทบให้ระยะเวลาสร้างบ้านยืดเยื้อ

  • งบประมาณค่าใช้จ่าย เมื่อระยะเวลาสร้างบ้านยืดออกไปแน่นอนว่าค่าก่อสร้าง ค่าแรง ย่อมเพิ่มเป็นเงาตามตัว หรือแม้กระทั่งค่าวัสดุที่บางชิ้นอาจปรับราคาเพราะเป็นข้อตกลงนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญา

  • มาตรฐานและความปลอดภัยของงานสร้าง เนื่องจากการสร้างบ้านต้องมีการคำนวณเรื่องการรับน้ำหนักของฐานราก ให้สัมพันธ์กับตัวบ้านตามแบบที่ตกลงไว้ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนแบบภายหลังจากการดำเนินงานฐานรากแล้วเสร็จแล้ว ฐานรากนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดของการปรับเปลี่ยนแบบ ขณะเดียวกันหากปรับเปลี่ยนแบบที่ไม่สัมพันธ์กับการรับน้ำหนักของฐานรากก็จะมีผลทั้งมาตรฐาน และความปลอดภัย มากกว่านั้นคือเสี่ยงผิดกฎหมายอีกด้วย


จึงกล่าวได้ว่าแบบบ้านถือเป็นตัวกำหนดรายละเอียดของงานสร้างในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการสร้าง ครอบคลุมพื้นที่บ้านตั้งแต่ประตูบ้านยันหลังคากันเลยทีเดียว

ดังนั้นแบบบ้านจึงเป็นเหมือนบทสรุปการทำงาน เพื่อการตรวจสอบ และหากมีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการก่อสร้าง หรือชนิดของวัสดุที่ต้องใช้ ก็ต้องถูกกำหนดในรายการประกอบแบบไว้อย่างชัดเจน และถือเป็นข้อผูกมัดในตัวสัญญาว่าจ้างอีกด้วย

 


 

แบบบ้านสัมพันธ์กับการยื่นกู้

หากการสร้างบ้านนี้ เป็นการสร้างบ้านโดยการยื่นกู้ แน่นอนว่าเอกสารในการยื่นกู้ จำเป็นต้องมีใบอนุญาตก่อสร้างจากทางเทศบาล หรือ อบต. นั้นๆ และมีการเซ็นรับรองคุมงานก่อสร้าง ซึ่งการเซ็นรับรองการก่อสร้างจะผ่านได้ด้วยดีหรือไม่นั้นก็วนกลับมาที่แบบบ้าน

  • การสร้างบ้านโดยการกู้ แบบบ้านจะต้องระบุอย่างชัดเจน ทั้งส่วนของตัวบ้านไปจนถึงอาคารโรงรถ ความยาวของรั้ว รวมไปถึงถนนเสริมคอนกรีตในบ้าน เพราะจุดนี้จะเป็นจุดที่ธนาคารพิจารณายอดกู้เพิ่มเติมจากอาคารที่อยู่อาศัย

เอกสารสำคัญประกอบการยื่นขออนุญาตสร้างบ้าน

1) สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน 1 ชุด

2) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน จำนวน 1 ชุด

3) สำเนาโฉนดที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง จำนวน 1 ชุด

4) แบบแปลน ผังบริเวณ และรายการประกอบแบบแปลนจำนวน 5 ชุด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    - รายการประกอบแบบ
    - แผนที่สังเขป
    - รูปแปลนบ้าน
    - รูปด้าน 4 ด้าน
    - รูปตัด 2 ด้าน
    - รูปโครงหลังคา
    - รูปแปลนคาน คานคอดิน ฐานราก
    - รูปขยายส่วนต่างๆ ของโครงสร้าง (คาน เสา ฐานราก)
    - รูปแปลนไฟฟ้า สุขาภิบาล
    - รายการคำนวณ

5) หนังสือแสดงความยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารในที่ดิน (กรณีเจ้าของอาคารไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่อาคารนั้นตั้งอยู่)

6) หนังสือแสดงความยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดิน (กรณีอาคารก่อสร้างชิดเขตที่ดินน้อยกว่า 50 ซม.)

  • การสร้างบ้านโดยไม่ผ่านการกู้เจ้าของบ้านสามารถนำแบบบ้านที่ผ่านการเซ็นรับรองคุมงานก่อสร้างไปขอใบอนุญาตก่อสร้างได้เลย โดยเอกสารนี้จะนำไปสู่การขอทะเบียนบ้าน เปลี่ยนมิเตอร์ที่ใช้ชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้าง มาเป็นแบบถาวร ระบบประปา ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ และถือเป็นการยืนยันการเป็นประชาชนของพื้นที่นั้นๆ

 

การแบ่งแบบบ้านเป็น 3 หมวด


1. แบบสถาปัตยกรรม เป็นแบบที่ทำให้เห็นภาพรวมของบ้าน รวมถึงรายละเอียดของตัวบ้านว่า มีขอบเขตอย่างไร โดยมีการระบุแบบแปลนห้องต่างๆ และยังแสดงรายละเอียดส่วนขยายต่างๆ อีกด้วย เช่น รายละเอียดประตู หน้าต่าง บันได ห้องน้ำ
และสุขภัณฑ์ ที่สำคัญยังกำหนดถึงรายละเอียดพื้นผิวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผิวไม้ ผิวกระเบื้อง ผิวทาสี หรือวัสดุอื่นๆ เพื่อใช้ประกอบในการประเมินราคาวัสดุของบ้านทั้งหลัง

2. แบบงานโครงสร้าง จะบอกถึงรายละเอียดขนาดหน้าตัดต่างๆ เช่น ขนาดเสา ขนาดคาน ขนาดพื้น ฐานราก เสาเข็ม เป็นแบบที่มีความจำเป็นมาก และใช้ประโยชน์ในตอนเริ่มต้นของการก่อสร้าง

3. แบบงานระบบ เป็นแบบงานระบบต่างๆ ทั้งแบบงานประปา งานระบายน้ำ งานไฟฟ้า และงานระบบสื่อสารต่างๆ ภายในบ้าน


แม้คำว่า แบบบ้าน อาจจะถูกมองแบนๆ ว่าคือ รูปแบบภาพสามมิติ หรือ ภาพสเกต ที่มาจากความต้องการใช้งานและไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน แต่รู้หรือไม่ว่าแบบบ้านเป็นมากกว่านั้น เพราะแบบบ้านคือจุดเริ่มต้นของการก่อสร้าง การขออนุญาต การเป็นประชากรของพื้นที่นั้นๆ แม้แต่การยื่นกู้ รวมไปถึงระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะหากมีการรื้อแบบอาจหมายถึงการส่งมอบที่ล่าช้าและการก่อสร้างที่ใช้งบบานปลาย 

ดังนั้น ความโชคดีของการมีบ้าน คือการหาช่าง หรือ บริษัทรับสร้างบ้าน ที่เราสามารถมั่นใจได้ว่าแบบบ้านของเราสามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย วางใจได้และสามารถก่อสร้างตามแบบและวัสดุที่กำหนดไว้ตามสัญญา

 

สนับสนุนบทความโดย

    

บริษัท มีนบุรีรับสร้างบ้าน คุณภาพ จำกัด

75/11 ซ.ร่มเกล้า ถ.ร่มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510

โทรศัพท์ : 0 2919 4653

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.bannmean.com 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154