บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

ถมที่ดินอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมาย?

25
มี.ค.
2565

ถมที่ดินอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมาย? และเหมาะสมกับการสร้างบ้าน หลายคนถึงกับเกาหัวเพราะอ่านข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. แล้วบอกว่าสามารถทำได้ แต่โดยความเป็นจริงนั้นกลับไม่เหมาะสมดูเบียดบังพื้นที่ข้างเคียงมาก จนต้องมาไล่อ่านหาข้อมูลกันใหม่

 

 

ถมที่ดินอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมาย? และเหมาะสมกับการสร้างบ้าน หลายคนถึงกับเกาหัวเพราะอ่านข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. แล้วบอกว่าสามารถทำได้ แต่โดยความเป็นจริงนั้นกลับไม่เหมาะสมดูเบียดบังพื้นที่ข้างเคียงมาก จนต้องมาไล่อ่านหาข้อมูลกันใหม่

การเตรียมปลูกบ้านสักหลังเมื่อมีทำเลที่ตั้งแล้ว จะด้วยเพราะเป็นที่ดินมรดก หรือที่ดินซื้อใหม่ การศึกษากฎหมายน่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่าการหาพื้นที่ใหม่ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ถมที่หรือปลูกสร้างบ้านในฝันแน่นอน วันนี้ HBA นำเอากฎ กติกา มารยาท ในการถมดินเพื่อไม่ให้มีปัญหาทางกฎหมายและเพื่อนบ้านมาฝาก

 

ถมที่ดินอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมาย


การถมดินจะมีข้อบังคับตามประมวลกฎหมายพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ให้คำจำกัดความสำหรับคำว่า ขุด และ ถม ไว้ดังนี้

  • ขุดดิน หมายความว่ากระทำแก่พื้นดินเพื่อนำดินขึ้นจากพื้นดิน หรือทำให้พื้นดินเป็นบ่อดิน
  • ถมดิน หมายความว่าการกระทำใด ๆ ต่อดินหรือพื้นดินเพื่อให้ระดับดินสูงขึ้นกว่าเดิม

ใน พ.ร.บ. นี้จะเห็นการขุดและถมถูกมัดรวมเป็น พ.ร.บ. เดียวกันเพราะมีข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติ ลักษณะงาน เพื่อไม่สร้างความเบียดบังแก่พื้นที่ข้างเคียงคล้ายกัน พร้อมทั้งจะต้องใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ควบคู่กับกฎกระทรวงอีกฉบับเพื่อบอกเจาะจงในเรื่องของระยะร่น ร่องน้ำ และแนวกั้น โดยมีหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพื่อขออนุญาตดังนี้


ขุดดิน

  • ขุดดินลึกเกิน 3 เมตร หรือพื้นที่ปากบ่อเกินกว่า 10,000 ตารางเมตร
  • ปากบ่อดินมีระยะห่างถึงเขตที่ดินข้างเคียง ไม่เกิน 2 เท่าของความลึกเพราะการกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน
  • ต้องขออนุญาต จัดการป้องกันการพังทลายของดิน โดยต้องได้รับการรับรองจากวิศวกรเสียก่อน


ถมดิน

  • มีการทำการถมดินสูงเกินกว่าที่ดินข้างเคียง โดยวัดจากด้านที่มีพื้นที่ต่ำสุดเป็นมาตรฐาน
  • พื้นที่ที่มีมากกว่า 2,000 ตารางเมตร (1 ไร่ 1 งาน)
  • ดำเนินการตามที่เจ้าพนักงานกำหนด โดยต้องทำรางน้ำเพื่อนการระบายน้ำไม่ให้เดือดร้อนพื้นที่ใกล้เคียง

 



 

กฎกระทรวง เป็นกฎหมายลำดับรองซึ่งฝ่ายปกครองตราขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ซึ่งในการถมดินจำเป็นต้องลงรายละเอียด ตัวเลข การถม ระยะร่น ข้อบังคับชัดเจนประกอบ เช่น ต้องคำนวณหาค่าเสถียรภาพความลาดเอียง ที่ปลอดภัยในการขุดดินหรือถมดิน หรือรายการแสดงวิธีการคำนวณความปลอดภัยของกำแพงกันดิน


รายละเอียดของการถมดิน

  • การถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินต่างเจ้าของ ที่อยู่ข้างเคียงและมีพื้นที่ของเนินดินเกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องแจ้งการถมดินนั้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดและมีวิศวกรเซ็น
  • ห้ามทำในเวลากลางคืน เว้นแต่ได้ รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก เจ้าพนักงานท้องถิ่น
  • พื้นที่สูงตั้งแต่ 2 เมตร จากพื้นที่ต่างเจ้าของที่อยู่ข้างเคียง ต้องมีแบบแปลน รายการคำนวณ และวิศวกรระดับโยธาเซ็น หากต่ำกว่า 2 เมตร ไม่ต้องเซ็น
  • หากพื้นที่สูงตั้งแต่ 5 เมตร ต้องมีวิศวกร ระดับวุฒิวิศวกรเซ็นเท่านั้น ดังนั้นการถมที่ดินสูงหากมีระดับวิศวกรเซ็นควบคุมตามข้อกำหนดก็สามารถทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมเมื่อเทียบกับพื้นที่ต่างเจ้าของข้างเคียง
  • หากพื้นที่ใหญ่ติดกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร และสูงเกิน 2 เมตร ต้องมีผู้คุมงานเพิ่ม ซึ่งในบริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่จะมีระดับวิศวกรเข้ามารับผิดชอบ ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
  • ส่วนฐานของเนินดินจะต้องห่างจากแนวเขตที่ดินของบุคคลอื่นหรือที่สาธารณะ เป็นระยะไม่น้อยกว่าความสูงของเนินดินที่จะถมดิน เช่น ถมดิน 2 เมตร ต้องร่นเข้ามา 2 เมตร หรือ ถม 5 เมตร ต้องร่นเข้ามา 5 เมตร แต่สามารถยกเว้นการถมเต็มพื้นที่ได้โดยการทำกำแพงกันดิน และมีวิศวกรดูแล
  • ต้องติดตั้งป้ายสีสะท้อนแสงเตือนอันตราย
  • หลังจากถมแล้วเสร็จต้องตรวจเสถียรภาพของเนินดินให้มีความมั่นคงปลอดภัย


จะเห็นได้ว่าในการถมหรือขุดดินตามกฎกระทรวงที่กำหนดมานั้นส่วนใหญ่จะพ่วงคำว่าต้องมีวิศวกรเซ็นซึ่งระดับของคุณวุฒิก็ขยับตามความรับผิดชอบในความปลอดภัยของการถม หลายบ้านตัดปัญหาการวิ่งขออนุญาตด้วยวิธีการสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านแทน

โดยมากการถมดินจะเกิดข้อพิพาทจากพื้นที่ต่างเจ้าของพื้นที่ข้างเคียง เพราะเกิดจากความไม่ปลอดภัย ดินไหลที่จากแรงดันของดินที่ยิ่งสูงยิ่งดัน ตามกฎหมายหากเจ้าของบ้านมีการขออนุญาตและมีวิศวกรเซ็นตามลำดับเซ็นถูกต้องก็สามารถดำเนินการถมตามต้องการได้ แต่หากเทียบกับพื้นที่ต่างเจ้าของพื้นที่ข้างเคียงแล้วเกิดความเบียดบัง ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย   การถมดินจึงมักมีคำว่าเหมาะสมมากำกับระดับความสูงเสมอ เพราะฉะนั้นต่อให้มีการขออนุญาตอย่างถูกกฎหมายแต่หากไม่เหมาะสมก็ไม่ควรทำ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทต่อเพื่อนบ้านในอนาคตนั่นเอง

 

สนับสนุนบทความโดย

     

บริษัท ลีอาร์คีเทค จำกัด

59 ถนนประเสริฐมนูญกิจ แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

โทรศัพท์ : 0 2570 2424

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.leearchitect.co.th 

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154