บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

จัดการพื้นที่อย่างไร เมื่อจะรื้อบ้านเก่าเพื่อสร้างบ้านใหม่

16
ธ.ค.
2563

 

 

บ้านที่อยู่อาศัยมานาน ย่อมมีส่วนที่เสียหาย ต้องซ่อมแซม หรือรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ เพื่อให้สวยงามน่าอยู่ และมีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบรับความต้องการของสมาชิกได้มากที่สุด เจ้าของบ้านส่วนใหญ่อาจพิจารณาสภาพบ้านเพื่อตัดสินใจรีโนเวท หรือรื้อถอน ซึ่งการรีโนเวทสิ่งที่ควรคำนึงหลักๆ คือการจัดการพื้นที่และข้าวของภายในบ้าน แต่การรื้อถอนบ้านเก่าเพื่อสร้างบ้านใหม่นั้นมีข้อคำนึงมากมายที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นตามไปดูกัน

2. สิ่งสำคัญต้องจัดการเมื่อรื้อถอนบ้าน

1. จัดการทุกอย่างเกี่ยวกับตัวบ้าน

• เพื่อความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการรื้อถอนบ้าน เจ้าของบ้านควรดำเนินการขอใบอนุญาตรื้อถอน โดยเฉพาะบ้านที่มีเลขที่บ้าน โดยเจ้าของบ้านต้องแจ้งรื้อถอนบ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันรื้อถอนเสร็จสิ้น พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่นายทะเบียนด้วย

เอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตเพื่อทำการรื้อถอนบ้าน

• แบบแปลนของบ้านที่จะรื้อถอน ประกอบด้วยรายละเอียดแบบแปลนทุกชั้น รูปด้านข้างทั้งสองด้าน ภาพตัดขวาง และรายละเอียดวัสดุที่ใช้สร้างอาคาร วิธีการรื้อถอน ที่ทำมาไม่เกิน 45 วัน

• แบบคำร้อง ข.1

• บัตรประจำตัวประชาชน

 ทะเบียนบ้านแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน

• หนังสือยินยอม ในกรณีไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน

• สำเนาโฉนดที่ดิน 

**การดำเนินรื้อถอนโดยไม่รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และต้องโทษปรับอีกเป็นรายวันไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง****

• บ้านที่ติดจำนองกับธนาคาร เจ้าของบ้านต้องติดต่อขอความยินยอมจากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ เพราะบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการชำระหนี้ การรื้อถอนโดยธนาคารไม่ยินยอมอาจทำให้เจ้าของบ้านต้องชำระหนี้เต็มอัตราทันที

• เคลียร์เฟอร์นิเจอร์ ทรัพย์สิน สิ่งของต่างๆ ออกจากบ้านให้หมดก่อนรื้อถอน และแยกของที่จะใช้ จะทิ้ง หรือบริจาคออกเป็นส่วนๆ เพื่อสะดวกกับการขนย้ายหรือจัดเก็บ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญหายด้วย

• เช็กลิสวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สามารถปรับใช้งานกับแบบบ้านใหม่ แล้วแจ้งทีมงานที่ดำเนินการรื้อถอนให้แยกเก็บเป็นสัดส่วน

• จัดการวัตถุที่เป็นอันตรายออกจากพื้นที่ระหว่างรื้อถอน เพื่อความปลอดภัย และลดอุปสรรคระหว่างการทำงาน

 

2. จัดการพื้นที่ที่รื้อถอน-ก่อสร้าง

• หากมีการรื้อถอนบ้านหลังเก่าเพื่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม เจ้าของบ้านควรให้ทีมงานออกแบบ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจตำแหน่งเสาเข็มของบ้านเดิม เพื่อออกแบบการวางตำแหน่งเสาเข็มใหม่ และการคำนวณความสูงของดินที่จะถมพื้นที่กรณีที่ที่ดินต่ำกว่ามาตรฐาน

• หากที่ดินที่รื้อถอนมีความสูงดีอยู่แล้ว สามารถให้ทีมออกแบบบ้านและดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้เลย ส่วนที่ดินที่ต้องถมที่ อาจต้องเผื่อเวลาสำหรับการถมและให้ดินเซ็ตตัวด้วย

ข้อควรรู้

• การรื้อถอนบ้านเก่าเพื่อสร้างบ้านใหม่ ในขั้นตอนการแจ้งเรื่องรื้อถอนให้ดำเนินการแจ้งรื้อถอน และสร้างบ้านใหม่ไปพร้อมกันเลย เพื่อลดเวลาการติดต่อและการดำเนินการ

• ควรแจ้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงเมื่อจะรื้อถอนบ้าน เพื่อให้มีการเตรียมตัว เพราะอาจมีฝุ่นหรือเสียงรบกวนขณะดำเนินการ

• การรื้อถอนควรเริ่มจากชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถถอดออกง่ายก่อน เช่น ประตู หน้าต่าง และชิ้นส่วนที่มีมูลค่า สามารถเก็บใช้งานต่อได้ หรือขายได้

• เมื่อจัดการชิ้นส่วนเล็กๆ เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการรื้อถอนหลังคา ผนัง และโครงสร้าง ตามลำดับ

 

การรื้อถอนบ้านเก่าเพื่อสร้างบ้านใหม่ เจ้าของบ้านควรดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และถูกต้องตามหลักการก่อสร้างอย่างมีมาตรฐาน ที่สำคัญคือไม่ควรรื้อถอนเอง แต่ควรให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการรื้อถอนให้ เพื่อความปลอดภัยทั้งกับตนเอง ครอบครัว ทรัพย์สิน บุคคลอื่นๆ และสถานที่ใกล้เคียง

 

 

สนับสนุนบทความโดย

 

บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด

ที่อยู่ : 1 อาคารเก้าพูลทรัพย์ ชั้น 3, 8 ซ.ลาดพร้าว 19 ถ.ลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทรศัพท์ : 0 2938 4356-7

อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เว็บไซต์ : www.landyhome.co.th

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154