บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

เรื่องควรรู้ เมื่อสร้างศาลานั่งเล่นในบ้าน

29
ธ.ค.
2563

 

 

ศาลานั่งเล่น ถือเป็นหนึ่งมุมโปรดที่สมาชิกในบ้านสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรม สร้างสรรค์งานอดิเรก หรือพักผ่อนท่ามกลางสวนสวยๆ หรือเป็นมุมจิบชา รับประทานอาหาร สังสรรค์กับสมาชิกในครอบครัว หรือรับแขกคนสำคัญ

ดังนั้นสำหรับบ้านที่มีพื้นที่สามารถสร้างศาลานั่งเล่นได้ ก็ถือเป็นมุมไฮไลต์ในบ้านที่ช่วยให้สมาชิกมีพื้นที่พักผ่อนเพื่อเสริมสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงสดใสได้เป็นอย่างดี

เรื่องควรรู้ เมื่อสร้างศาลานั่งเล่นในบ้าน

1. สำรวจพื้นที่และตำแหน่งที่ตั้งศาลา

พื้นที่ที่เหมาะสมกับการสร้างศาลานั้น ควรกว้างขวางมากพอสำหรับรองรับขนาดศาลาที่จะสร้างได้อย่างเหมาะสม โดยการออกแบบจัดวางตำแหน่งศาลาสามารถทำได้โดยอาศัยขนาดพื้นที่โดยรวมของบ้านเป็นตัวกำหนด เช่นหากพื้นที่มีไม่มากควรวางตำแหน่งศาลาไว้บริเวณมุมรั้ว หรือชิดติดกำแพง เพื่อให้เห็นวิวกว้างๆ แต่หากมีพื้นที่กว้างขวางก็สามารถที่จะวางตำแหน่งศาลาไว้กลางพื้นที่เปิดให้เห็นวิวแบบ 360 องศา ไปเลย หรือถ้าบ้านไหนมีต้นไม้ใหญ่ อาจเลือกตำแหน่งศาลาให้อยู่ใต้ต้นไม้ ก็จะได้ร่มเงาต้นไม้ช่วยให้บรรยากาศศาลาดูร่มรื่นขึ้น

ทั้งนี้ตัวศาลาอาจมีลักษณะเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน หรือเปิด 3 ด้าน หรือ 2 ด้านก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่และตำแหน่งที่จัดวาง และขณะเดียวกันต้องไม่ลืมหันทิศทางศาลาให้ตอบรับกับทิศทางลม และแสงแดดด้วย เพื่อให้การใช้พื้นที่ศาลาเป็นไปอย่างสะดวก สบาย และสร้างความผ่อนคลายโดยไม่ถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อม

2. กำหนดขนาดศาลาที่เหมาะสม

การออกแบบศาลาควรอิงไปกับแบบบ้านและแบบสวน เพื่อเสริมให้เกิดความสวยงามลงตัว และดูเหมาะสมทุกมุมมอง รวมถึงขนาดของศาลาต้องเหมาะสมกับพื้นที่ ดังนั้นในขั้นตอนการออกแบบ ควรให้สถาปนิกดำเนินการไปพร้อมกับการออกแบบบ้านด้วย

โดยนอกจากการกำหนดขนาดศาลาให้เหมาะสมกับพื้นที่และแบบบ้านเป็นหลักแล้ว ยังต้องคำนึงถึงฟังก์ชันและขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้สอยของสมาชิกด้วย

3. ให้ความสำคัญกับฐานรากศาลา

ศาลาที่ดีควรมีฐานรากที่มีมาตรฐานการ มีความแข็งแรงมากพอที่จะรองรับน้ำหนักโดยรวมได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน หรือเกิดความเสียหายของรูปทรงในภายหลัง โดยฐานรากศาลามี 2 แบบ คือ

• ฐานรากแบบแผ่ เป็นแบบฐานรากที่สามารถวางบนพื้นดินโดยไม่ต้องมีเสาเข็มรองรับ ซึ่งจะมีการถ่ายเทน้ำหนักจากตัวศาลาลงพื้นดินได้โดยตรง ส่วนใหญ่นิยมใช้กับศาลาแบบโปร่ง หรือทที่มีน้ำหนักไม่มากนัก

• ฐานรากแบบเข็ม เป็นฐานรากที่มีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ค่อนข้างมาก เพราะใช้แรงเสียดทานจากตัวเข็มกับชั้นดินช่วยรองรับน้ำหนัก เหมาะสำหรับศาลาขนาดใหญ่

 

 

4. ให้ความสำคัญกับโครงสร้างหลังคาศาลานั่งเล่น

โดยขั้นตอนการยึดเกาะตัวหลังคากับโครงสร้างหลังคาของศาลานั่งเบ่นต้องติดตั้งอย่างมีมาตรฐานเพื่อป้องกันการหลุด หรือปลิว รวมถึงการรั่วซึมด้วย โดยโครงสร้างหลังคาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โครงหลังคา ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา วัสดุมุงหลังคา ทำหน้าที่ช่วยสร้างความสวยงามให้กับพื้นที่สวนของบ้าน โดยปัจจุบันมีวัสดุให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด

 

5. พื้นศาลาเหมาะสมกับการใช้งาน

พื้นศาลาควรเป็นพื้นที่มีความแข็งแรงทนทาน ไม่มีหลุมหรือเนิน หรือสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือสะดุดล้มได้ ส่วนใหญ่พื้นศาลามักทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้ อิฐมอญ ศิลาแลง เซรามิก หินอ่อน พื้นขัดหิน พื้นปูนฝังกรวดหิน และหินทราย

 

ศาลานั่งเล่นเป็นส่วนประกอบเสริมให้บ้านนั้นน่าอยู่ โดยเฉพาะเมื่อตั้งอยู่ในพื้นที่สวนและมีการออกแบบได้อย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับตัวบ้านได้ดี รวมทั้งยังเพิ่มพื้นที่พักผ่อนและทำกิจกรรมสำหรับสมาชิก ทำให้การใช้ชีวิตภายในรั้วบ้านนั้นมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154