บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

มาตรฐานการเลือกประตู หน้าต่าง ที่เหมาะกับการใช้งานอย่างปลอดภัย

28
ธ.ค.
2564

 

 

ประตู หน้าต่าง เป็นองค์ประกอบของบ้านที่เชื่อมโยงบรรยากาศภายนอกและภายในบ้านเข้าไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ปกป้องตัวบ้านและผู้อยู่อาศัยในบ้านจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ความร้อนจากแสงแดด การรั่วซึมจากน้ำฝน กระแสลม ฝุ่น แมลง เสียงดังรบกวน รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นประตู หน้าต่างจึงมีความสำคัญอย่างมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนอื่นๆ

การเลือกประตู หน้าต่าง นอกจากความสวยงามสอดคล้องกับดีไซน์บ้าน เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังมีเรื่องของความแข็งแรงคงทน เพื่อให้อยู่คู่กับบ้านไปนานๆ และวันนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้นำมาตรฐานในการเลือกประตู หน้าต่าง ให้เหมาะกับการใช้งานอย่างปลอดภัยมาฝาก เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้สำหรับสร้างบ้านในฝันให้อยู่อาศัยในระยะยาว

 

มาตรฐานที่จำเป็นสำหรับประตู-หน้าต่าง

ประตูและหน้าต่างที่ดี จะถูกทำการทดสอบคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานในการใช้งาน ซึ่งมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก คือ มาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ JIS (Japanese Industrial Standards) โดยได้กำหนดมาตรฐานพื้นฐานของประตู และหน้าต่างที่ดีไว้ 3 มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของบ้านในการเลือกประตู และหน้าต่าง ดังนี้


1. มาตรฐานการต้านทานแรงลม
Wind Pressure Resistance Performance

เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความแข็งแรงของบานประตู และหน้าต่างในการต้านทานแรงลมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยมีหน่วยเป็น พาสคัล (Pa) เป็นมาตรฐานที่จำเป็นมาก เพราะหากเกิดลมพายุแรง อาจทำให้ประตูหน้าต่างโก่ง กระจกแตก หรือลมพัดจนบานหลุดได้

โดยมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (มอก.744-2530) ได้จำกัดประเภทของประตูและหน้าต่าง เพื่อติดตั้งในบ้าน บนอาคารสูง หรือคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานไว้ ดังนี้

  • อาคารสูง 10-20 เมตร เหมาะกับหน้าต่างที่ต้านแรงลมได้ระหว่าง 800-1,200 Pa
  • อาคารสูง 20-40 เมตร เหมาะกับหน้าต่างที่ต้านแรงลมได้ระหว่าง 1,200-1,600 Pa
  • อาคารสูงกว่า 40 เมตร เหมาะกับหน้าต่างที่ต้านแรงลมไม่น้อยกว่า 1,600 Pa


2. มาตรฐานการป้องกันน้ำรั่วซึม
Water Tightness Performance

แสดงถึงระดับการป้องกันน้ำฝนรั่วซึม ว่าป้องกันได้ที่แรงลมเท่าไหร่เมื่อเกิดพายุฝน ประเทศไทยมีฝนเยอะ ส่วนมากประตูหน้าต่างจะมีปัญหาเรื่องน้ำรั่ว ดังนั้นควรเลือกใช้ประตู-หน้าต่างที่ป้องกันน้ำรั่วซึมให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะนำไปติดตั้ง

มาตรฐานการป้องกันน้ำฝนรั่วซึมเมื่อเกิดแรงลม มีหน่วยเป็นพาสคัล (Pa) เช่นเดียวกับการต้านทานแรงลม โดยค่ามาตรฐานในการป้องกันน้ำฝนรั่วซึมจะอยู่ที่ 100-500 พาสคัล ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตำแหน่งการตั้ง ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากน้ำฝน และความสูงของที่พักอาศัยเป็นหลัก

การป้องกันน้ำรั่วซึม แบ่งออกเป็น 5 ระดับ

  • ระดับ W-1 แรงลม    100 Pa                  ความเร็วลม           9-15m/s
  • ระดับ W-2 แรงลม    150 Pa                  ความเร็วลม           11-19m/s
  • ระดับ W-3 แรงลม    250 Pa                  ความเร็วลม           14-24m/s
  • ระดับ W-4 แรงลม    350 Pa                  ความเร็วลม           16-29m/s
  • ระดับ W-5 แรงลม    500 Pa                  ความเร็วลม           20-35m/s

*บ้านพักอาศัยทั่วๆ ไป ประตู และหน้าต่าง ควรมีมาตรฐาน JIS ในการป้องกันน้ำฝนรั่วซึมอยู่ในระดับที่ W2 – W3

  



3. มาตรฐานการป้องกันอากาศรั่วไหล Air Tightness Performance

เมื่อต้องการควบคุมอุณหภูมิ หรืออากาศภายในห้องให้คงที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเปิดใช้เครื่องปรับอากาศ การเลือกประตูและหน้าต่างที่มีคุณสมบัติป้องกันอากาศรั่วไหลของอากาศผ่านตัวบานประตูและวงกบ จะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น เพราะเครื่องปรับอากาศจะทำงานไม่หนัก และยังช่วยป้องกันเสียงรบกวน ป้องกันฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังมีมากในปัจจุบัน หรือแม้แต่กลิ่นไม่พึงประสงค์ มลพิษต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพของทุกคนในครอบครัว

แต่หากประตู หรือหน้าต่างไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันอากาศรั่วไหล ผู้อยู่อาศัยจะได้ยินเสียงลมเข้ามาภายในห้อง จนสร้างความรำคาญใจให้กับสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ วัสดุประตู-หน้าต่าง ที่สามารถป้องกันอากาศรั่วไหลได้ โดยระดับในการป้องกันอากาศรั่วไหล สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ

  • A-1 เหมาะประตู-หน้าต่างสำหรับบ้านที่ใช้ภายใน
  • A-2 เหมาะประตู-หน้าต่างสำหรับบ้านที่ใช้ภายใน
  • A-3 เหมาะกับบานประตูหน้าต่างทั่วไป
  • A-4 เหมาะกับประตู-หน้าต่างที่ป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงระดับสูง

ประตู-หน้าต่างเป็นสิ่งที่ติดตั้งแล้วไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง จึงควรมองหาประตู-หน้าต่างที่ผ่านการทดสอบ 3 มาตรฐานข้างต้น นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการเลือกวัสดุที่ใช้ทำประตู-หน้าต่างให้เหมาะสมกับบ้าน และวิธีการติดตั้งก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นหากเราได้บริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ ที่ได้มาตรฐาน รายละเอียด มาตรฐานวัสดุ และการติดตั้งทั้งหลายจะได้รับการออกแบบและคัดสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อให้เราได้รับมอบบ้านที่สวยงาม แข็งแรง ได้มาตรฐานครบถ้วนอย่างแน่นอน

 

สนับสนุนบทความโดย

  
บริษัท ท็อป เอส ที บิวเดอร์ จำกัด

274/5-7 ซอยลาดพร้าว 122 ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310

โทรศัพท์ : 09 5246 6063, 0 2542 2244

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. , This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.stbuilder.com 

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154