บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

วัสดุโครงสร้างบ้านแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน

21
ก.ค.
2564

 

 

 

บ้านหนึ่งหลังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและมีหลายองค์ประกอบสำคัญกว่าจะก่อร่างสร้างเป็นบ้านที่อยู่อาศัยได้ โดยหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการสร้างบ้านที่สำคัญคือโครงสร้าง ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักรวมทั้งหมดของตัวบ้าน น้ำหนักผู้อยู่อาศัย และเฟอร์นิเจอร์ประกอบต่างๆ

ดังนั้นการเลือกวัสดุสำหรับโครงสร้างบ้านจึงเป็นอีกเรื่องที่เจ้าของบ้านต้องให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดเป็นพิเศษ เพื่อเลือกได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับความต้องการใช้งาน

ในบทความนี้เรามีวัสดุโครงสร้างหลักๆ มาให้พิจารณา 3 แบบ คือ โครงสร้างปูน โครงสร้างไม้ และโครงสร้างเหล็ก แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร เรามาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันเลย


1. โครงสร้างปูน

บ้านโครงสร้างปูน หรือเรียกว่าบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมด้วยเหล็ก ถือเป็นโครงสร้างยอดนิยมที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จุดเด่นของบ้านโครงสร้างปูน

ซื้อง่าย ราคาถูก โครงสร้างปูนเป็นโครงสร้างที่หาซื้อวัสดุได้ง่าย มีผลิตภัณฑ์และชนิดของปูนในท้องตลาดให้เลือกมากมาย จึงมีตัวเลือกด้านราคาที่หลากหลายกว่าโครงสร้างแบบอื่นๆ

หาช่างง่าย ด้วยความนิยมมายาวนาน ดังนั้น ช่าง และผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่จะสามารถสร้างบ้านปูนได้ เจ้าของบ้านจึงมีตัวเลือกช่างที่มีความชำนาญมารับสร้างบ้านของตนได้ไม่ยาก

สร้างบ้านได้หลากสไตล์ แบบบ้านปูนในปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายแบบ เจ้าของบ้านสามารถออกแบบและตกแต่งได้ตามชอบ

เหมาะกับทุกภาพอากาศ บ้านปูนสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศร้อน อากาศเย็น ได้ดี เช่น กลางวันในหน้าร้อนบ้านปูนจะอยู่เย็น เพราะปูนช่วยดูดซับความร้อนเก็บไว้ และในหน้าหนาว บ้านปูนจะกั้นลมหนาวได้ดีกว่าบ้านไม้ ทำให้ภายในบ้านอบอุ่น อีกทั้งยังทนแดดทนฝนอีกด้วย

เก็บเสียงกันมลภาวะได้ดี บ้านโครงสร้างปูนสามารถเก็บเสียงในบ้านได้ดี แถมยังป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก รวมถึงมลภาวะต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง ควัน และกลิ่นต่างๆ ไม่ให้เข้ามารบกวนคนในบ้านได้อีกด้วย

จุดด้อยของบ้านโครงสร้างปูน

ปัญหาสี บ้านปูนต้องมีการทาสี หรือติดวอลเปเปอร์ที่ผนัง เพื่อให้บ้านมีสีสว่างน่าอยู่อาศัย ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านนานไป ตัวบ้านจะมีปัญหาสีซีด หมอง หลุดร่อนได้ อีกทั้งหากเลือกใช้โทนสีไม่เหมาะสม จะทำให้บ้านดูมืดทึบไม่สดใสได้

ความยืดหยุ่นน้อย โครงสร้างปูนเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงแต่ขาดความยืดหยุ่น ดังนั้นหากเกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว บ้านปูนจะเกิดความเสียหาย แตกร้าว พัง ได้มากกว่าโครงสร้างชนิดอื่นๆ

รื้อถอนเคลื่อนย้ายได้ยาก โครงสร้างปูนเป็นโครงสร้างถาวร ไม่เหมาะกับการรื้อถอน เคลื่อนย้าย ดังนั้นก่อนการสร้างบ้านโครงสร้างปูน ควรเลือกแบบบ้านและการวางโครงสร้างให้แน่นอนก่อน เพราะหากต้องการเคลื่อนย้ายหรือปรับปรุงบ้านในภายหลังจะทำได้ยาก และอาจต้องทุบทิ้งกันเลยทีเดียว


2. โครงสร้างไม้

ก่อนการเข้ามาของโครงสร้างปูน โครงสร้างไม้เป็นโครงสร้างบ้านหลักในประเทศไทย เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย มีความคงทน เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบ้านเมืองของคนไทยในอดีต


จุดเด่นของบ้านโครงสร้างไม้

ระบายความร้อนได้ดี ไม้จะมีคุณสมบัติถ่ายเทความร้อนได้รวดเร็ว บ้านที่ปลูกสร้างด้วยไม้จึงเย็นสบาย ไม่อบอ้าว อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าวัสดุอื่นๆ ดังนั้นจึงเหมาะกับสภาพอากาศเมืองร้อนชื้นแบบไทย

เอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม้มีเสน่ห์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นสีสันลวดลายที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละแผ่น หรือผิวสัมผัสที่ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาตินุ่มนวล ไม้จึงเป็นวัสดุที่ให้ความสวยงาม คลาสสิก ร่วมสมัยไม่ตกยุค

ทนต่อภัยธรรมชาติ โครงสร้างไม้มีทั้งความแข็งแรง ทนทาน และความยืดหยุ่น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหม บ้านไม้จะได้รับความเสียหายน้อยกว่าโครงสร้างชนิดอื่นๆ

ง่ายต่อการรื้อถอน บ้านไม้สามารถถอดรื้อถอนได้ง่าย แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือจะย้ายไปประกอบใหม่ก็สามารถทำได้ อีกทั้งไม้ที่รื้อของเดิมออกไปแล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย

สร้างความสดชื่นให้กับผู้อาศัย บ้านโครงสร้างไม้เป็นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ จึงทำให้บรรยากาศภายในบ้านเป็นธรรมชาติ สดชื่น รู้สึกผ่อนคลาย

จุดด้อยของบ้านโครงสร้างไม้

ปลวกแมลงก่อกวน บ้านไม้ก็มักจะมีปัญหาเรื่องของปลวก และแมลงต่างๆ ที่จ้องจะกัดกินไม้ ดังนั้นหากรักจะสร้างบ้านไม้ ต้องดูแลรักษาไม้เป็นพิเศษ เช่น ทาน้ำยากันปลวก กันแมลง

วัสดุก่อสร้างหายาก ไม้เป็นของธรรมชาติจึงมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถเพิ่มได้ทันใจตามใจชอบ ดังนั้นไม้จึงมีราคาที่ค่อนข้างสูง ยิ่งไม้เนื้อดีๆ ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้ประดู่ ที่เหมาะกับการสร้างบ้านนั้น ก็ยิ่งหายากและยิ่งมีราคาแพงตามไปด้วย

ดูแลรักษายากกว่าวัสดุอื่นๆ ตัววัสดุมีการยืด-หดตามสภาพอากาศ บางครั้งจึงเกิดปัญหาบ้านรั่วซึมระหว่างช่องว่างของไม้ อีกทั้งวัสดุไม้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเจ้าของบ้านต้องหมั่นดูแล ตรวจตรา ซ่อมแซม บำรุงรักษาอยู่เสมอ เช่น ทากันแมลง เคลือบสี ย้ำตะปู

ไม่สามารถปกป้องได้ทุกสภาพอากาศ บ้านไม้แม้จะถ่ายเทความร้อนได้ดี แต่คุณสมบัติด้านป้องกันความร้อนไม่ดีนัก ดังนั้นในหน้าร้อนบ้านไม้จะร้อนกว่าบ้านปูน และในหน้าหนาว บ้านไม้จะเย็นกว่าเพราะลมหนาวจะลอดผ่านเข้ามาภายในตัวบ้าน นอกจากนี้บ้านไม้ยังไม่เหมาะที่จะสร้างบ้านติดถนน เพราะไม่สามารถป้องกันฝุ่น ควัน หรือกลิ่นต่างๆ จากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้

 



3. โครงสร้างเหล็ก

โครงสร้างเหล็ก คือ โครงสร้างน้องใหม่ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ด้วยปัญหาต่างๆ ของวงการก่อสร้าง โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาค่าแรง รวมทั้งกระบวนการก่อสร้างที่ต้องแข่งขันกับเวลา ต้องการความรวดเร็วที่มากยิ่งขึ้น บ้านโครงสร้างเหล็กจึงได้รับความสนใจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จุดเด่นของบ้านโครงสร้างเหล็ก

สร้างไว เหล็กเป็นวัสดุก่อสร้างที่สามารถลดต้นทุนด้านเวลาได้ดีที่สุด ทำงานเสร็จอย่างรวดเร็วทันเวลา เพราะเหล็กสามารถนำมาใช้งานได้ทันที โดยไม่มีขั้นตอนอื่นๆ อีก

ออกแบบรูปทรงแปลกใหม่ โครงสร้างเหล็กสามารถออกแบบบ้านได้หลากหลายมากกว่าชนิดอื่น เพราะเหล็กที่ใช้สร้างบ้าน มีหลายชนิดหลายขนาด และยังสามารถ ดัด พับ ยืด ให้เป็นไปตามรูปทรงที่ต้องการได้

น้ำหนักเบา โครงสร้างเหล็กมีน้ำหนักเบากว่า ลดการใช้เสาเข็ม และเสาคานเหล็กมีขนาดเล็ก ทำให้ภายในบ้านโล่งกว้างไม่มีส่วนของเสาหรือคานโผล่ซึ่งทำให้จัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย

หน้างานสะอาด การก่อสร้างโครงสร้างเหล็กไม่ต้องมีการผสม ทราย หิน ดิน ปูน หน้างานจึงแห้ง ดูสะอาด เป็นระเบียบ ลดฝุ่นฟุ้งกระจาย

แข็งแรงและยืดหยุ่น เหล็กมีความแข็งแรงทนทานไม่ต่างกับปูน เมื่อเลือกใช้เหล็กเต็ม เหล็กรูปพรรณ เหล็กมอก. ที่สามารถรับน้ำหนักได้จำนวนมาก ซึ่งทำให้มีความแข็งแรง แต่ยังคงความยืดหยุ่น รองรับแผ่นดินไหว

สามารถสร้างในพื้นที่เฉพาะได้ เหล็กมีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้ง่าย จึงสามารถสร้างในที่ที่มีข้อจำกัดสูงได้ เช่น พื้นที่สูง พื้นที่แคบ

ประหยัดค่าแรง ด้วยระยะเวลาก่อสร้างที่รวดเร็ว และขั้นตอนการก่อสร้างน้อยกว่าโครงสร้างชนิดอื่นๆ จึงร่นระยะเวลาการทำงาน ปริมาณการทำงานลดลง พึ่งพาจำนวนแรงงานน้อยลง ค่าแรงจึงลดลงไปด้วย

จุดด้อยของบ้านโครงสร้างเหล็ก

ราคาเหล็กปรับตัวตลอด เหล็กเป็นวัสดุที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาบ่อย ดังนั้นเมื่อเทียบเฉพาะค่าต้นทุนด้านวัสดุก่อสร้าง เหล็กจะมีราคาแพงกว่าปูนซีเมนต์ และงบประมาณได้ยากกว่า

ขาดช่างชำนาญ โครงสร้างเหล็กเป็นการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ ดังนั้นช่างที่ชำนาญ มีประสบการณ์สูง ยังมีไม่มาก ผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าของบ้าน ต้องคัดสรรช่างด้วยความรอบคอบ โดยอาจดูจากผลงานที่ช่าง หรือ ผู้รับเหมาก่อนสร้างได้เคยทำมาประกอบการตัดสินใจ

การบำรุงรักษาในภายหลัง เหล็กบางชนิดอาจจะต้องเสียค่าบำรุงรักษา เช่น เหล็กที่ไม่ได้เคลือบกัลวาไนซ์ ไม่ทาสีกันสนิม จะมีค่าทาสีเคลือบสี พ่นกันสนิม หากเลือกใช้เหล็กที่ทนทานต่อแดด ฝน ไม่เกิดสนิม ควรเลือกเหล็กที่เคลือบกัลวาไนซ์ เหล็กเคลือบอลูซิงค์สำเร็จรูป ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที

ดังนั้นไม่ว่าจะบ้านโครงเหล็ก โครงสร้างบ้านปูน หรือ โครงสร้างไม้ ต่างก็มีข้อดีข้อควรระวังแตกต่างกัน ก่อนตัดสินใจก่อสร้างควรทราบความต้องการของตนเอง และเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละแบบ ปรึกษาบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องเสียเวลาแก้ไขปรับเปลี่ยนในภายหลังอีกครั้ง

 

 

สนับสนุนบทความโดย



บริษัท ท็อป เอส ที บิวเดอร์ จำกัด

ที่อยู่ : 274/5-7 ซอยลาดพร้าว 122 ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310

โทรศัพท์ : 0 2542 2692, 0 2542 2955, 0 2542 2244, 06 3905 8904

อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : https://stbuilder.com 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154