ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น
หรือฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป มีีลักษณะเป็นแผ่นหรือเป็นม้วนสามารถติดตั้งในส่วนของหลังคา ฝ้าเพดานและผนัง
1. อลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)
2. โพลีเอธิลีนโฟม (Polyethylene Foam)
3. Air bubble
4. ใยแก้ว (Fiber Glass)
ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น
เป็นฉนวนกันความร้อนที่ต้องพ่นลงบนพื้นผิว เช่น หลังคา ผนังหรือฝ้าเพดาน มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าฉนวนแบบแผ่น
1. สีสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating)
2. โพลียูรีเทนโฟม (Rigid Polyurethane Foam; PU)
3. เยื่อกระดาษ (Cellulose)
การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนต้องพิจารณาจากประสิทธิภาพในการต้านทานความร้อนและการนำความร้อนของวัสดุ ภายในบ้านไม่จำเป็นต้องติดตั้งฉนวนกันความร้อนแบบเดียวกันทั้งหมด ควรคำนึงถึงงบประมาณและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ หากมีงบประมาณมากควรติดตั้งทั้งที่ผนังและหลังคารวมทั้งฝ้าเพดานของทุกห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะจะลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศได้ หากมีงบประมาณปานกลางควรติดตั้งฉนวนที่หลังคาและผนังด้านที่ร้อนที่สุด ได้แก่ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ถ้าหากมีงบประมาณน้อยควรเลือกติดตั้งที่หลังคา เพราะหลังคาจะได้รับความร้อนมากที่สุดตลอดทั้งวันสำหรับบ้านพักอาศัยที่มีฝ้าเพดานแบบที-บาร์ (T-BAR) สามารถยกเปิดแผ่นฝ้าแล้วใช้ฉนวนแบบแผ่นหรือแบบม้วนปูทับไปด้านบน สำหรับบ้านที่มีฝ้าเพดานแบบแผ่นเรียบปิดตาย ควรติดตั้งฉนวนกับฝ้าตั้งแต่แรกเนื่องจากการทำงานยุ่งยาก การเลือกใช้ฉนวนก็สามารถใช้ได้ทั้งแบบแผ่นและแบบม้วน หรืออาจเลือกใช้ฉนวนแบบพ่นบริเวณใต้กระเบื้องหลังคา แม่้การติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่หลังคาจะช่วยป้องกันความร้อนที่จะถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านได้ แต่ยังมีความร้อนจากส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากผนัง โดยเฉพาะด้านที่โดนแดดแรงควรทำเป็นผนังทึบด้วยวัสดุที่มีค่าความต้านทานความร้อนสูงและนำควรร้อนต่ำ สำหรับผนังส่วนที่จำเป็นต้องใช้กระจกอาจลดความร้อนด้วยติดตั้งแผงบังแดด ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา หรือเลือกใช้กระจกกันความร้อน
"ฉนวนกันความร้อนที่ดีควรมีค่าการต้านทานความร้อน (R) สูงและค่าการนำความร้อนต่ำ"
ข้อควรระวัง การใช้ฉนวนควรรู้
- อลูมิเนียมฟอยล์ : ความสามารถในการสะท้อนความร้อนจะหมดไปหากมีฝึ่นผงมาเกาะ
- ใยแก้ว : หากฟอยล์ที่หุ้มใยแก้วฉีกขาด ความชื้นจะเข้าไปทำความเสียหายให้ใยแก้วจนหมดประสิทธิภาพในการกันความร้อน หากสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้มีอาการระคายเคืองได้โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้ดังนั้นในการติดตั้งจึงควรสวมถุงมือและเสื้อผ้ามิดชิด
- ฉนวนชนิดโฟม : สามารถกันความร้อนได้แต่ติดไฟง่าย มีราคาแพง และมีความยืดหยุ่นในการใช้งานน้อย
- การซ่อมบำรุง : ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นจะซ่อมบำรุงง่ายกว่าการเปลี่ยนแผ่นฉนวนที่เสียหายจะทำได้ง่ายกว่าฉนวนกันความร้อนแบบพ่น เนื่องจากเมื่อพ่นแล้ววัสดุฉนวนจะเคลือบแนบแ่นไปกับวัสดุนั้น หากเกิดความเสียหายการซ่อมแซมทำได้ยาก
การแก้ปัญหาบ้านร้อนอาจไม่ใช่แค่การติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วน การออกแบบให้บ้านมีการระบายอากาศที่ดีเพื่อนำความร้อนภายในบ้านออกไปจะช่วยให้อุณหภูมิในบ้านลดลง ทำให้สามารถอยู่อาศัยได้สบายมากขึ้น และยังช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศได้ด้วย
โครงการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน