การสร้างบ้านเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านกับทีมก่อสร้าง แน่นอนว่าการสื่อสารย่อมต้องมีศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง รวมถึงคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบต่างๆ ของบ้าน ดังนั้นก่อนสร้างบ้านเจ้าของบ้านจึงควรศึกษาและรู้ศัพท์เบื้องต้นที่สถาปนิกและทีมงานใช้พูดคุยกัน เพื่อความเข้าใจตรงกัน และงานสร้างไม่ผิดพลาด
1. ศัพท์สถาปัตยกรรมเบื้องต้น
แบบพิมพ์เขียว (Blueprint)
เป็นสำเนาแบบก่อสร้างที่มาจากแบบต้นฉบับซึ่งเป็นกระดาษไข โดยประโยชน์ของพิมพ์เขียวจะถูกนำไปใช้เป็นหลักทั้งการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเป็นสื่อกลางที่ทีมทำงานยึดเป็นแบบในการสื่อสารกับเจ้าของบ้าน และเป็นแบบในการก่อสร้าง
สเปช
เป็นที่ว่างของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่แสดงถึงคุณภาพของพื้นที่ เช่น บริเวณที่ดินที่ใช้สร้างบ้าน ควรมีการเว้นระยะระหว่างตัวบ้านกับรั้ว เพื่อให้มีพื้นที่ว่างที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่รู้สึกอึดอัดเกินไป หรือการเว้นระยะระหว่างพื้นบ้านกับเพดานที่ควรมีความสูงพอเหมาะพอดี ไม่ต่ำเกินไปจนทำให้รู้สึกเตี้ยและอึดอัด
ช่องเปิด
เป็นบริเวณส่วนของอาคารที่ถูกเจาะทะลุทำให้น้ำ อากาศ แสง หรือสิ่งของต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ อาจเป็นช่องกว้างหรือแคบก็ได้ เช่น ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ ชองแสง ช่องระบายลม
ฟังก์ชัน
เป็นการรองรับการใช้งานที่ส่วนต่างๆ ของบ้านสามารถทำได้ เช่น พื้นที่สวนของบ้าน นอกจากจะให้ความรื่มรื่นและความสงบสบายแก่ผู้พักอาศัยแล้ว ยังเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สมาชิกของครอบครัวสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น เล่นกีฬา จัดปาร์ตี้ รับประทานอาหาร
บริบท
คือสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน เช่น ถนน การจราจร เพื่อนบ้าน ต้นไม้ ตึก ทุ่งนา พื้นที่ว่าง ซึ่งบริบทเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่สถาปนิกใช้เป็นส่วนประกอบในการวางตำแหน่งพื้นที่และออกแบบบ้าน เพื่อให้แบบบ้านนั้นสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และให้ประโยชน์การใช้งานสูงสุด
2. ศัพท์แบบก่อสร้างและองค์ประกอบบ้าน
เสาเข็ม
เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างที่อยู่ใต้ฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักบ้านจากฐานรากแล้วถ่ายลงสู่ดินโดยอาศัยแรงเสียดทานระหว่างผิวของเสาเข็มกับดิน และแรงต้านทานที่ปลายเข็มจากชั้นดินแข็ง โดยที่ใช้ก่อสร้างบ้านมี 2 ประเภท คือ
• เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง หรือเสาเข็มตอก ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทำจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็วและโครงเหล็กภายในทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูง การลงเสาเข็มนี้จะใช้การตอกกระแทกลงดินโดยใช้ปั้นจั่น
• เสาเข็มเจาะ เป็นเสาเข็มที่ต้องทำในสถานที่ก่อสร้าง โดยใช้เครื่องมือเจาะลงไปในดินให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วจึงใส่เหล็กเสริมและเทคอนกรีตลงไปเพื่อหล่อเป็นเสาเข็ม
ฐานราก
เป็นแผ่นคอนกรีตที่หล่อทับหัวเสาเข็ม มีคุณสมบัติช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่เสาเข็มและเป็นส่วนฐานของเสาบ้าน โดยจะทำหน้าที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของบ้าน แล้วถ่ายเทน้ำหนักนั้นลงสู่เสาเข็ม
ตอม่อ
เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างบ้านที่จมอยู่ใตดิน และจะอยู่บนฐานราก ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของตัวบ้านเหนือพื้นดินแล้วถ่ายเทน้ำหนักลงสู่ฐานราก
คาน
ส่วนของโครงสร้างที่ใช้รับน้ำหนักของบ้านแล้วถ่ายลงไปยังเสา โดยขนาดของคานจะต้องสัมพันธ์กับเสา และมีการใช้วัสดุหลายประเภท เช่น คานไม้ คานคอนกรีต และคานเหล็ก
เสาเอ็นและคานทับหลัง
เป็นโครงสร้างรองที่ช่วยให้บ้านมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเสาเอ็น เป็นโครงสร้างของผนังที่ใช้ยึดผนังในแนวดิ่ง ส่วนคานทับหลัง เป็นโครงสร้างของผนังที่ใช้ยึดผนังในแนวราบ ทั้งเสาเอ็นและคานทับหลังจะถูกใช้งานร่วมกัน เพื่อโยงยึดผนังให้มีความแข็งแรง
โครงหลังคา
ทำหน้าที่รับน้ำหนักแผ่นหลังคาที่เป็นวัสดุหลากหลาย โดยแต่ละชนิดของวัสดุมุงหลังคาจะมีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ดังนั้นการออกแบบโครงหลังคาจึงต้องคำนวนการรับน้ำหนักและรูปแบบให้เหมาะสม มีมาตรฐาน นอกจากนี้โครงหลังคายังเป็นตัวยึดเกาะหลังคาให้เชื่อมกับตัวบ้านด้วย
ขื่อ
เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลังคาในแนวนอนอยู่บนหัวเสา ทำหน้าที่เป็นคานสำหรับรับดั้ง รวมทั้งยังใช้สำหรับยึดโครงคร่าวผนังเพื่อแบ่งกั้นห้องภายในบ้านได้ด้วย
เชิงชาย
ส่วนที่ปิดปลายหลังคา เพื่อบดบังความไม่เรียบร้อยของวัสดุมุงหลังคา และเป็นส่วนประกอบช่วยเสริมความแข็งแกร่งของหลังคา โดยเชิงชายจะเป็นเหมือนตัวจบรายละเอียดที่สำคัญของหลังคา
เชิงชายเป็นส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่ง รวมถึงปกปิดความไม่เรียบร้อยภายใต้หลังคา การเลือกสีของเชิงชายนับว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะอยู่ส่วนบนสุดของบ้านสามารถมองเห็นได้ชัดและยังเป็นส่วนที่ดูแลรักษาได้ยาก จึงควรเลือกไม้สีเข้มเพื่ิอปกปิดคราบดำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ชายคา
เป็นช่วงของหลังคาที่ยื่นออกมาจากผนังบ้านจนถึงปลายเชิงชาย ทำหน้าที่ในการช่วยระบายความร้อนใต้หลังคา และให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน โดยระยะยื่นของชายคาต้องมีความสัมพันธ์กับแบบบ้านและโครงสร้าง เพื่อความสวยงามและสมดุล
การสร้างบ้านมีความซับซ้อนและมีศัพท์มากมายที่สถาปนิก วิศวกรและทีมช่างใช้สื่อสารกัน หากเจ้าของบ้านมีการเตรียมพร้อมด้านศัพท์เบื้องต้นต่างๆ ไว้บ้าง จะทำให้เข้าใจแบบเมื่อสื่อสารกับสถาปนิก และเข้าใจงานมากขึ้นเมื่อถึงเวลาก่อสร้าง
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด
เลขที่ 1 อาคารเก้าพูลทรัพย์ ชั้น 3,8 ซอยลาดพร้าว 19 ถนนลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0 2938 3456-7
เว็บไซต์ : www.landyhome.co.th