การสร้างบ้านสักหลัง หากทำเลที่ต้องให้ทั้งความสะดวกสบายและปลอดภับกับเจ้าของบ้านแล้ว ย่อมทำให้อยู่สุขสบายได้อย่างยั่งยืน แต่ความสุขนั้นจะดียิ่งกว่าหากการปูรากฐานก่อนสร้างบ้านเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่ก่อนก่อสร้างซึ่งต้องมีขั้นตอนต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาดินทรุด บ้านร้าว หรือแม้กระทั่งป้องกันปัญหารบกวนการอยู่อาศัยจากสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะปลวก ดังนั้นมาดูกันว่าการเตรียมพื้นที่ที่ดีเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ มีอะไรบ้าง
1. เทคนิคเตรียมพื้นที่ก่อนสร้างบ้านลดปัญหาดินทรุด
1.1 สำรวจที่ดินและจัดการอุปสรรคการก่อสร้างบนที่ดิน
• ที่ดินเป็นที่ดินเปล่าหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ที่ดินเปล่าและมีอาคาร สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อยู่ ให้รื้อถอนถึงชั้นฐานรากออก ส่วนเสาเข็มถ้ามีไม่ต้องรื้อแต่ให้ทีมออกแบบกำหนดตำแหน่งเสาเข็มใหม่เข้าไป
• ที่ดินที่มีตำแหน่งสาธารณูปโภค เช่น เสาไฟฟ้า มิเตอร์ประปา ควรย้ายออกจากตำแหน่งที่กีดขวางการก่อสร้าง
• ต้นไม้ยืนต้นที่อยู่ในที่ดิน หากต้องการเก็บไว้ควรแจ้งทีมออกแบบเพื่อวางตำแหน่งบ้านให้เหมาะสมกับตำแหน่งต้นไม้
• หากที่ดินมีต้นไม้ที่หยั่งรากลึกและรากมีลักษณะชอนไชอย่างต้นไทร ต้นโพธิ์ หูกระจง ก้ามปู ควรพิจารณานำออกหรือวางในตำแหน่งที่ห่างจากบ้านให้มากที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบกับฐานบ้าน
• ตรวจสอบที่ดินเบื้องต้นโดยสังเกตจากต้นไม้ที่ขึ้น หากเป็นต้นกระถิน มะขามเทศ แสดงว่าดินบริเวณนั้นมีความแห้ง แต่หากเป็นต้นกก อ้อ ธูปฤาษี ขึ้นอยู่แสดงว่าที่ดินมีความชื้นแฉะ
• เช็กประวัติการเกิดน้ำท่วมและระยะเวลาการแห้ง เพื่อให้ทีมคำนวณค่าความหนาแน่นของดิน และการยุบตัว
• หากที่ดินอยู่ในระดับต่ำ หรือเป็นบ่อ หนองน้ำมาก่อน ควรมีการถมและปรับสภาพดินให้เหมาะสำหรับการก่อสร้าง
1.2 เลือกชนิดของดินที่ใช้ถมให้เหมาะสม
• ดินถมทั่วไป ดินที่มีราคาค่อนข้างถูก นิยมถูกใช้ถมดินเพื่อลดค่าใช้จ่าย ตัวเนื้อดินมีความแน่น ซึ่งเมื่อถมแล้วควรรอให้เนื้อดินทรุดตัวเหมาะสมจึงตอกเสาเข็มได้ ด้วยภายในเนื้อดินมีความอุดมสมบูรณ์น้อย จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ปลูกต้นไม้
• ดินลูกรัง ลักษณะเป็นดินแห้งผสมหิน มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อนำมาถมที่จะสามารถบดอัดได้ดี และก่อสร้างได้ทันที แต่ไม่เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้
• ดินดาน ดินที่มีความแห้ง สีออกเหลือง สามารถบดอัดได้ดี ราคาไม่ค่อยแพง เมื่อถมแล้วสามารถก่อสร้างได้ทันที เหมาะสำหรับถมถนนหรือที่ดินริมน้ำ แต่ไม่เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้
• ดินทราย เนื้อดินมีลักษณะไม่อุ้มน้ำ ราคาค่อนข้างถูก หากใช้ถมที่ต้องมีการบดอัดอย่างดีและมีการป้องกันดินไหล และทรุดตัวในอนาคต
1.3 ระดับการถมมีผลกับเวลาที่ใช้การก่อสร้าง
• ระดับการถมไม่เกิน 50 ซม. จากดินเดิม เป็นการถมที่มีผลกับเสาเข็มน้อยมาก จึงสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เลย
• ระดับการถม 50 – 200 ซม. จากดินเดิม หลังถมแล้วควรทิ้งเวลาไว้สักระยะ โดยอย่างน้อยประมาณ 1 หน้าฝน เพื่อให้ดินโดนทั้งแดด ฝน และเซ็ตตัวเหมาะกับการก่อสร้าง
• ระดับการถมมากกว่า 200 ซม. ควรถมดินเตรียมไว้ก่อนก่อสร้างและทิ้งเวลาไว้มากกว่า 1 ปี หรือหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่เร่งด่วน อาจใช้ดินดาน หรือดินลูกรังในการถม และทำการบดอัดเป็นชั้นเพื่อให้เนื้อดินบีบอัดแน่นที่สุด
1.4 เคล็ดลับถมดินสร้างบ้าน
• นำเศษขยะ เศษใบไม้ หรือซากสิ่งของออกจากพื้นที่ก่อนถม เพื่อลดช่องว่างในดิน และให้การบดอัดแน่นขึ้น
• ดินที่ใช้ถมควรเป็นดินแห้ง เลี่ยงใช้ดินเลนซึ่งจะทำให้เกิดการทรุดตัวของดินภายหลัง
• ทุกระดับการถม 50 ซม. ควรทำการบดอัดดินให้แน่น ก่อนถมชั้นต่อไป
• บริเวณที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ควรใช้ทรายช่วยถมเพื่อให้สามารถไหลแทรกไปในช่องว่างต่างๆ
• หากต้องการปลูกต้นไม้ควรใช้ดินที่เหมาะสม เช่น ดินจากบริเวณหน้าดิน ซึ่งมีสารอาหารเหมาะกับการเจริญเติมโตของต้นไม้
2. เทคนิคเตรียมพื้นที่ก่อนสร้างบ้านลดปัญหาปลวก
• เลี่ยงการใช้วัสดุที่เป็นอาหารปลวก อย่างไม้ และพยายามใช้พวกคอนกรีต เหล็ก หรือไม้เทียม
• หากเลี่ยงการใช้วัสดุพวกไม้ไม่ได้ ควรเคลือบสารป้องกันปลวก ซึ่งช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง
• ตัดต้นกำเนิดหรือแล่งพื้นีท่ที่ปลวกชอบ เช่น เศษใบไม้ที่กองทับถมรอบพื้นีท่สร้างบ้าน
• ฉีดน้ำยาป้องกันปลวกเคลือบที่หน้าดินบริเวณที่จะสร้างบ้าน เพื่อทำให้ดินมีความเป็นพิษต่อปลวก ไม่ให้ปลวกสามารถผ่านหรืออยู่อาศัยบริเวณนั้นได้
• วางระบบท่อน้ำยาป้องกันปลวกก่อนสร้างบ้าน เพื่อใช้สำหรับอัดฉีดน้ำยาป้องกันปลวกลงพื้นดินใต้บ้าน ซึ่งสามารถทำได้ทุกปี
การวางแผนป้องกันดินทรุดและป้องกันปลวกด้วยวิธีต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นการป้องกันปัญหาก่อนสายเกินแก้ จะช่วยให้บ้านที่สร้างขึ้นสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสงบ สะดวก สบาย และอยู่ได้ยาวนาน โดยไม่มีปัญหารบกวนภายหลัง
สนับสนุนบทความโดย
ที่อยู่ : 59 ถนน ประเสริฐมนูกิจ แขวง จรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230
โทรศัพท์ : 0 2570 2424
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.leearchitect.co.th