บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

4 เรื่องควรรู้ เมื่อสร้างบ้านใหม่แทนบ้านเก่าในที่ดินเดิม

06
พ.ย.
2564

 

 

เทรนด์การรื้อบ้านเก่าแล้วสร้างบ้านใหม่บนที่ดินเดิมเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะราคาที่ดินที่ขยับสูงขึ้น บางพื้นที่ทำเลดีจนเจ้าของบ้านเสียดาย เพราะจะหาซื้อบ้านใหม่ในละแวกเดิมเป็นไปได้ยาก ทั้งยังผูกพันกับถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม ทำให้เจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะรีโนเวทบ้านหรือสร้างบ้านใหม่แทนบ้านเก่าในที่ดินเดิม ซึ่งจะมีขั้นตอนและเรื่องควรรู้อะไรบ้าง HBA สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้รวบรวมมาให้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมาให้คุณแล้ว

 


1. เลือกแบบ
บ้านที่ตรงใจ

ได้โอกาสสร้างบ้านใหม่แทนบ้านเก่า ก็ต้องเลือกแบบบ้านที่สวยตรงใจ ทันสมัย และที่สำคัญฟังก์ชันการใช้งานต้องตอบโจทย์กับเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย ดังนั้นควรปรึกษาหารือคนในครอบครัว เพื่อได้แบบบ้านที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกคน จากนั้นติดต่อให้สถาปนิก หรือบริษัทรับสร้างบ้าน ให้เขียนแบบบ้านและขึ้นพิมพ์เขียว สำหรับนำไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป


2. ยื่นเรื่องขอใบอนุญาต
รื้อถอน

เพื่อความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการรื้อถอนบ้าน เจ้าของบ้านควรดำเนินการขอใบอนุญาตรื้อถอน โดยเฉพาะบ้านที่มีเลขที่บ้าน โดยเจ้าของบ้านต้องแจ้งรื้อถอนบ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันรื้อถอนเสร็จสิ้น พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่นายทะเบียนด้วย 

การดำเนินรื้อถอนโดยไม่รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และต้องโทษปรับอีกเป็นรายวันไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง 

 

 



เอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตเพื่อทำการรื้อถอนบ้าน

  • แบบแปลนของบ้านที่จะรื้อถอน ประกอบด้วยรายละเอียดแบบแปลนทุกชั้น รูปด้านข้างทั้งสองด้าน ภาพตัดขวาง และรายละเอียดวัสดุที่ใช้สร้างอาคาร วิธีการรื้อถอน ที่ทำมาไม่เกิน 45วัน
  • แบบคำร้อง ข.1
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ทะเบียนบ้านแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน
  • หนังสือยินยอม ในกรณีไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน
  • สำเนาโฉนดที่ดิน

ในกรณีที่บ้านยังติดภาระจำนองกับธนาคาร ก่อนการรื้อถอนใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ก่อน เนื่องจากบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการชำระหนี้ มิเช่นนั้นอาจทำให้เจ้าของบ้านต้องชำระหนี้เต็มอัตราทันที


3. จัดการพื้นที่
เพื่อรื้อถอน-ก่อสร้าง

  • บ้านที่อยู่มานานจะมีข้าวของมากมาย ดังนั้นควรคัดแยกสิ่งของในบ้านให้เรียบร้อยเพื่อสะดวกในการขนย้าย เช่น สิ่งของที่บริจาค สิ่งของที่จะทิ้ง สิ่งของที่จะย้ายบ้านหลังใหม่
  • ผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจตำแหน่งเสาเข็มของบ้านเดิม เพื่อออกแบบการวางตำแหน่งเสาเข็มใหม่ และการคำนวณความสูงของดินที่จะถมพื้นที่กรณีที่ที่ดินต่ำกว่ามาตรฐาน
  • หากที่ดินที่รื้อถอนมีความสูงดีอยู่แล้ว สามารถให้ทีมออกแบบบ้านและดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้เลย ส่วนที่ดินที่ต้องถมที่ต้องเผื่อเวลาสำหรับการถมและให้ดินเซ็ตตัวด้วย


4. ขออนุญาตก่อสร้าง

เมื่อรื้อถอนเรียบร้อยแล้วก่อนจะก่อสร้างบ้านหรืออาคารต้องมีการขอใบอนุญาตก่อสร้าง แม้จะเป็นการสร้างบนที่ดินเดิมก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน เพราะหากก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้ขออนุญาต เจ้าของบ้านจะมีความผิดตามกฎหมาย สามารถโดนเอาผิดย้อนหลังได้ 

เจ้าของบ้านสามารถไปยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างบ้านที่สำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ พร้อมด้วยแปลนบ้าน เมื่อได้ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเรียบร้อยแล้วจึงดำเนินการขั้นต่อไปได้

สำหรับการสร้างบ้านใหม่แทนบ้านเก่าในพื้นที่เดิม จะมีความแตกต่างจากการสร้างบ้านปกติในส่วนของการเตรียมการรื้อถอนและขนย้าย ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตขนย้ายนั้นมีความสำคัญมาก การที่เราไม่ทำเรื่องรื้อถอนแล้วไปขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ บ้านหลังใหม่ของเราก็จะถูกสวมทะเบียนตามมูลค่าเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการโอนต่อ รวมทั้งยังมีข้อมูลประวัติบ้าน ขนาด อายุการใช้งาน ไม่ตรงตามจริงอีกด้วย

ดังนั้นหากตั้งใจเริ่มต้นชีวิตในบ้านใหม่บนที่ดินเดิมให้เริ่มต้นอย่างถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตต่อจากนี้ไปมีแต่ความราบรื่น และอยู่เย็นเป็นสุขกับบ้านหลังใหม่ไปนานๆ

 

สนับสนุนบทความโดย

    

บริษัท บิวท์ ทู บิวด์ จำกัด

ที่อยู่ : 8 ซอยอ่อนนุช 46 ถนนอ่อนนุช แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250

โทรศัพท์ : 0 2721 3999

เว็บไซต์ : www.btb.co.th

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154