บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

6 เรื่องเตรียมพร้อมก่อนคุยกับสถาปนิก ให้เข้าใจตรงกัน ได้บ้านตรงใจ

02
มิ.ย.
2563

 

 

เมื่อคิดสร้างบ้านสักหลังนอกจากเจ้าของบ้านจะต้องมีความพร้อมในส่วนต่างๆ แล้ว ยังควรต้องมีข้อมูลต่างๆ ที่จะใช้สำหรับการสร้างบ้านให้สถาปนิกนำไปออกแบบบ้านและฟังก์ชันการใช้งาน เพื่อให้ได้บ้านตรงตามความต้องการมากที่สุด เหมาะกับการอยู่อาศัยในระยะยาวอย่างยั่งยืน

สถาปนิก คือผู้ที่มีความสำคัญในการออกแบบและวางแผนการก่อสร้าง มีความเข้าใจมาตรฐานการก่อสร้าง และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

ในการสร้างบ้าน สถาปนิกจะเป็นผู้ออกแบบบ้านให้ตรงตามโจทย์ที่ได้รับจากเจ้าของบ้าน ตามพื้นฐานการออกแบบสถาปัตยกรรมซึ่งจะคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งานควบคู่ไปกับความสวยงาม มาตรฐาน และความปลอดภัย

6 เรื่องเตรียมพร้อมก่อนคุยกับสถาปนิก

เมื่อเจ้าของบ้านเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่จะมาช่วยแปลงบ้านในฝันให้เป็นบ้านที่อยู่อาศัยได้จริงแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมความพร้อมเพื่อคุยกับทีมงานและสถาปนิก ซึ่งสำหรับบางคนอาจเรียกได้ว่าเป็นการติดต่องานกับสถาปนิกเป็นครั้งแรก เพื่อให้ความเข้าใจที่ตรงกัน และได้บ้านตรงตามต้องการ เจ้าของบ้านควรมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ดังนี้

1. เตรียมพร้อมข้อมูลที่ดิน

การติดต่อกับสถาปนิกเพื่อให้ข้อมูลในการออกแบบนั้น สิ่งแรกที่เจ้าของบ้านต้องมีคือลักษณะและขนาดของที่ดิน หากเจ้าของบ้านจำข้อมูลที่ดินไม่ได้ ควรนำโฉนดที่ดินไปให้สถาปนิกดู เพื่อตีความความต้องการขนาดบ้านและพื้นที่ใช้สอยออกมาให้เหมาะสมกับขนาดที่ดิน

หากที่ดินที่ต้องการสร้างบ้านมีต้นไม้ใหญ่ที่อยากเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เจ้าของบ้านควรแจ้งแก่สถาปนิกเพื่อจัดทำแบบบ้านที่เหมาะสมกับตำแหน่ง

2. เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก และความต้องการต่างๆ

จำนวนและความต้องการต่างๆ ของผู้พักอาศัย มีผลต่อการออกแบบทุกส่วนของบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านควรให้ข้อมูลกับสถาปนิกให้มากที่สุด เพื่อให้สถาปนิกนำข้อมูลไปใช้ประกอบการออกแบบให้ใกล้เคียงกับความต้องการ โดยข้อมูลที่เกี่ยวกับความต้องการนั้นมีหลายส่วน เช่น

  • แนวความคิด หรือคอนเซปต์แบบบ้านที่อยากได้ เช่น บ้านมีสวน มีสระว่ายน้ำ หรือบ้านที่รองรับผู้สูงอายุ
  • รูปแบบบ้าน และสไตล์ที่อยากได้ เช่น บ้าน 2 ชั้นสไตล์โมเดิร์น หากมีแบบบ้านในฝันที่อยากให้ให้นำภาพให้สถาปนิกดูเพื่อเป็นไกด์ในการออกแบบ
  • วัสดุหลักที่จะใช้ในการสร้างบ้าน
  • ความต้องการเรื่องการใช้สอย เช่น บ้านกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ ต้องการพื้นที่จอดรถกี่คัน ลักษณะครัวไทยหรือครัวฝรั่ง
  • หากเจ้าของบ้านสนใจเรื่องเกี่ยวกับฮวงจุ้ย หากมีข้อมูลเรื่องตำแหน่งและทิศทางฮวงจุ้ยแล้วควรแจ้งกับสถาปนิกด้วย

3. ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ

งบประมาณการสร้างบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรแจ้งแก่สถาปนิก เพราะหากเจ้าของบ้านมีข้อมูลงบประมาณการสร้างที่ชัดเจน จะทำให้สถาปนิกรู้ขอบเขตของการออกแบบ สามารถคำนวนขนาดบ้าน รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ทำให้งบไม่บานปลายภายหลัง

 

 

4. ศึกษาทำความรู้จักสไตล์บ้านในงานออกแบบ

การศึกษาเกี่ยวกับลักษณะและจุดเด่นของสไตล์บ้านแต่ละแบบ จะช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถพูดคุยและแจ้งความต้องการแบบบ้านคร่าวๆ ให้กับสถาปนิกได้ เช่น

  • แบบบ้านสไตล์ Modern แบบบ้านที่ตอบโจทย์การใช้สอยได้สูงสุด โดยเน้นการนำวัสดุในอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาใช้ เช่น เหล็กและกระจกซึ่งเป็นเป็นจุดเด่นของบ้าน แบบบ้านนี้จะเน้นความเป็นธรรมชาติของวัสดุและโครงสร้าง ซึ่งให้ความรู้สึกหรูหราในความเรียบง่าย
  • แบบบ้านสไตล์ Classic แบบที่เน้นงานฝีมือชั้นสูงฝั่งตะวันตกซึ่งมีความสง่างามและความอ่อนช้อยของลวดลาย เน้นการใช้โทนสีดำ ขาว น้ำตาล ครีม ทอง และเงิน
  • แบบบ้านสไตล์ Contemporary เป็นลักษณะแบบบ้านร่วมสมัย มีการผสมผสานกันระหว่างความโมเดิร์นกับคลาสสิกเข้าด้วยกัน
  • แบบบ้านสไตล์ Oriental บ้านกลิ่นอายตะวันออก โดยใช้วัสดุหลักที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เน้นการออกแบบให้มีความเรียบง่ายตามวิถีชีวิต สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ ลักษณะบ้านค่อนข้างโปร่งและเย็นสบาย
  • แบบบ้านสไตล์ Tropical บ้านที่ประยุกต์การตกแต่งให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อนชื้น โดยมีจุดเด่นคือการสร้างความรู้สึกอยู่สบาย ผ่อนคลาย เสมือนการพักผ่อนในวันหยุด แบบบ้านมีความเป็นเอกลักษณ์ เน้นความโปร่งและโล่ง มีการใช้แสงธรรมชาติประกอบเป็นจุดเด่น

5. ศึกษาเกี่ยวกับศัพท์สร้างบ้านเบื้องต้น

นอกจากข้อมูลต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการออกแบบที่ต้องเตรียมให้สถาปนิกแล้ว การจะคุยกับสถาปนิกให้รู้เรื่องเจ้าของบ้านเองควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศัพท์เบื้องต้นเกี่ยวข้องกับการสร้างบ้าน เพื่อให้เรื่องที่คุยกันสามารถปะติดปะต่อได้ง่าย มีความเข้าใจทุกอย่างถูกต้องตรงกัน

6. ศึกษาวิธีการดูแบบแปลน

แปลน เป็นเหมือนสื่อกลางที่สถาปนิกใช้สื่อสารกับเจ้าของบ้าน โดยจะแสดงให้เห็นว่าบ้านหลังนั้นๆ มีพื้นที่ใช้สอยเท่าไร ประกอบด้วยห้องอะไร มีอะไรวางตำแหน่งไหน แต่ละองค์ประกอบของบ้านมีขนาดเท่าไร ซึ่งสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่อาจไม่เข้าใจวิธีการอ่านแปลน จึงควรต้องศึกษาวิธีการอ่านและสัญลักษณ์ต่างๆ เบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจเมื่อสถาปนิกนำเสนอแบบบ้าน และแจ้งความต้องการได้ชัดเจนขึ้น

เพราะบ้านคือองค์ประกอบสำคัญในการใช้ชีวิต การสร้างบ้านสักหลังหากเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้พักอาศัยโดยตรงมีส่วนร่วมในการออกแบบตั้งแต่ต้น มีการเตรียมพร้อมทั้งด้านงบประมาณและข้อมูลความต้องการที่ให้สถาปนิกอย่างครบถ้วน จะทำให้ได้บ้านที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคุณจริงๆ

 

สนับสนุนบทความโดย

 

บริษัท ดีไซน์ 304 จำกัด

935 ถนนพระรามที่ 9 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

โทรศัพท์ : 0 2720 3551-2

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เว็บไซต์ : design304.co.th

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154