ดังนั้นการทำให้บ้านไม่ร้อน พร้อมอยู่อาศัยได้ทุกช่วงเวลา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการออกแบบ วางแผน เลือกวัสดุให้เหมาะกับการใช้งาน เพราะไม่เพียงแค่เพื่อให้บ้านของเราสมบูรณ์แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานไปในตัว แต่จะมีเทคนิคอย่างไรบ้างนั้น วันนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มีข้อมูลมาฝากกันค่ะ
1.รู้ทิศ
แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับคนสร้างบ้าน แต่ก็เป็นข้อมูลจริงที่แก้ปัญหาบ้านร้อนได้ เพราะในแต่ละเดือนจะมีลมประจำทิศที่ช่วยระบายถ่ายเทความร้อนจากตัวบ้านและรับลมใหม่จากภายนอกบ้าน อย่าง ช่วงเดือนมีนาคม -พฤษภาคม ที่เป็นฤดูร้อน ทิศทางลมจะพัดมาทางทิศใต้ ซึ่งถือว่าเป็นลมที่ดี ช่วยลดความร้อนของอากาศลงได้ ส่วนความร้อนในช่วงวันที่มาจากแสงอาทิตย์นั้น บริษัทรับสร้างบ้านจะวางแผนให้แต่ละห้องนั้นสามารถอยู่อาศัยได้ทุกช่วงเวลา เช่น ห้องนอน ควรวางไว้ทิศตะวันออกเลี่ยงการรับแดดในครึ่งวันบ่ายทางทิศตะวันตก เป็นต้น
2.ติดตั้งฉนวนกันความร้อน
หลังคาเป็นจุดรับทั้งแดด-ฝน ตลอดปี จึงควรเลือกวัสดุที่มีฉนวนกันความร้อนเพื่อกันความร้อนและลดอุณหภูมิของบ้านได้ ซึ่งส่วนนี้หากเป็นการสร้างบ้านโดยบริษัทรับสร้างบ้านก็สามารถเบาใจในส่วนของน้ำหนักที่ต้องสัมพันธ์กับโครงสร้างบ้านหลังนั้น ๆ ได้ แต่ไม่เพียงแค่ส่วนของหลังคาเท่านั้นที่เราจะสามารถติดตั้งฉนวนกันความร้อนได้ ฝ้า ก็เป็นอีกบริเวณที่สามารถติดตั้งฉนวนเพื่อลดอุณภูมิจากชั้นบนลงชั้นล่าง ซึ่งเมื่ออุณหภูมิลดลงก็ประหยัดพลังงานไปได้โดยปริยาย
3.ผนังกันความร้อน
การเลือกผนังก็เป็นแนวทางที่ช่วยให้บ้านเราเย็นได้ ซึ่งวัสดุหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดีก็คือ อิฐมวลเบา เพราะในตัวอิฐมีฟองอากาศแทรกอยู่จึงทำให้ป้องกันความร้อนเข้าสู่บ้านได้ หรือแม้แต่การวางแผนการก่อผนังสองชั้นเฉพาะด้านที่รับแดดบ่ายก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เพราะการก่อผนังสองชั้นนั้นจะก่อผนังด้วยอิฐจำนวนสองแถว และเว้นให้มีช่องว่างระหว่างผนังแถวนอกกับแถวใน โดยช่องว่างนี่เองจะช่วยสามารถลดร้อนก่อนเข้าสู่ผนังบ้าน (ผนังแถวใน) ได้ถึง 5 องศา เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีการตกแต่งผนังต่าง ๆ เช่น ระแนง หรือ หน้ากากอาคาร (ฟาซาด Facade) ก็ทำให้บ้านเราเย็นขึ้นได้และสวยงามโดดเด่นด้วยในเวลาเดียวกัน
4.สีกันความร้อน
นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาบ้านร้อนที่เป็นที่นิยมสำหรับคนกำลังสร้างบ้านอีกอย่างนึงก็คือการเลือกสีกันความร้อน เพราะในสีกันความร้อนจะมีสารที่เป็นฉนวนกันความร้อน ซึ่งป้องกันและสะท้อนไม่ให้ผนังบ้านดูดซับและสะสมความร้อนเก็บไว้ภายในบ้าน ลดอุณหภูมิภายในบ้านให้เย็นขึ้นได้ แต่การเลือกสีนั้นก็มีแยกย่อยตามการใช้งานเช่น สีกันความร้อนสำหรับใช้ภายใน และสีกันความร้อนภายนอก ซึ่งเหล่านี้มักควบรวมคุณภาพป้องกันความชื้นป้องกันเชื้อราได้อีกด้วย และมากไปกว่าการเลือกสีให้เหมาะกับการใช้งาน การเลือกโทนสีเย็น โทนสีที่อ่อน อย่างสีขาว สีเหลืองอ่อน ๆ สีเขียวสบายตา ก็มีผลต่อความรู้สึกร้อน-เย็น มวลรวมที่เป็นการเสริมพลังบวกให้กับบ้านได้เช่นกัน
5.การเลือกพื้นปูกระเบื้อง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อพื้นบ้านเย็นก็ทำให้บ้านน่าอยู่ทุกช่วงเวลา สามารถนั่ง นอน เล่น ทำกิจกรรมใด ๆ แบบไม่หงุดหงิดติดขัด และวัสดุที่เราควรเลือกปูเพื่อบ้านเย็นน่าอยู่ควรเป็นวัสดุที่หาซื้อง่าย ( เผื่ออนาคตมีการซ่อมแซม ) ระบายร้อนดี กักเก็บความเย็น อย่าง หินอ่อน หินแกรนิต กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องพอร์ซเลน กระเบื้องดินเผา หรือแม้กระทั่งพื้นปูนดิบในแบบสไตล์บ้าน loft ก็ทำให้บ้านเย็นช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการวางแผนก่อนขึ้นโครงสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางฉนวนกันความร้อน ผนังกันร้อนก็ดี ซึ่งถือว่าเป็นงานระบบกินบริเวณส่วนใหญ่ของบ้าน และเป็นตัวควบคุมความเย็นป้องกันความร้อนของบ้านเลย แต่กระนั้นส่วนอื่น ๆ เช่น การปูพื้น หรือ ทาสีเอง ก็สำคัญไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ดี การสร้างบ้านอย่างไรให้ไม่ร้อน พร้อมอยู่อาศัยได้ทุกช่วงเวลา ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่จะสามารถทำให้บ้านเย็นได้ ซึ่ง สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จะได้นำมาฝากในโอกาสหน้า ฝากติดตามด้วยนะคะ
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท บิวท์ ทู บิวด์ จำกัด
ที่อยู่ : เลขที่ 8 ซอยอ่อนนุช 46 ถนนอ่อนนุช แขวง / เขต สวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
โทรศัพท์ : 02 721 3999
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.btb.co.th