หากจะพูดถึงแนวทางการสร้างบ้านเพื่อให้เย็นอยู่สบาย อิงความเป็นธรรมชาติ ผลพลอยได้ที่เห็นชัดๆ จากแนวทางนี้ นั่นก็คือการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะยุคนี้ที่ค่าไฟแพงขึ้นแบบเท่าตัว การวางแผนเพื่อออกแบบบ้านให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ และช่วยแบ่งเบาภาระระยะยาวได้ และวันนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้รวบรวมแนวทางออกแบบและสร้างบ้านเย็นด้วยธรรมชาติมาฝากกัน
3 แนวทางออกแบบและสร้างบ้านเย็นด้วยธรรมชาติ
1. ออกแบบบ้านตามทิศ
การออกแบบบ้านโดยอิงจากธรรมชาติ สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงที่สุดคือ แสงแดด เพราะเราไม่สามารถจะเปลี่ยนทิศทางของแสงแดดได้ ดังนั้นต้องออกแบบโดยคำนึงทิศทางของแดด เพื่อดึงจุดเด่น คือการใช้แสงสว่างช่วยเรื่องลดความอับชื้น และกลบจุดด้อยคือหลบความร้อน เปิดรับลม ซึ่งทิศที่ดีที่สุดควรเป็นตำแหน่งหน้าบ้านนั่นก็คือ ทิศเหนือ หรือ ทิศตะวันออก
- ทิศเหนือ - ใต้ เป็นร่องทิศที่รับลม ยิ่งในช่วงฤดูร้อน เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ลมประจำฤดูจะพัดมาทางทิศใต้ ถือเป็นลมที่ดี ช่วยลดความร้อนของอากาศลงได้
- ทิศตะวันออก หากหน้าบ้านเป็นทิศตะวันออก จะได้รับแสงเช้า เป็นสัญญาณแห่งการเริ่มวันใหม่ ห้องที่ควรอยู่ตำแหน่งนี้จึงต้องเป็นห้องนอน เปิดรับแสงอ่อนๆ และไม่มีคนอยู่อาศัยในห้องในระหว่างวัน
- ทิศตะวันตก เป็นทิศที่ถือว่ารับร้อนรับแดดตลอดค่อนวัน เป็นทิศที่ทำให้บ้านมีความร้อนสะสมเป็นจำนวนมาก การออกแบบจึงควรเลี่ยงไม่ควรเป็นห้องที่มีผู้อยู่อาศัย เพื่อลดการใช้พลังงาน บริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่จึงมักออกแบบตำแหน่งนี้ให้เป็นห้องน้ำ ห้องครัว ให้ความร้อนจากแสงแดดไล่ความอับชื้นและฆ่าเชื้อโรค ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากทิศในการออกแบบอย่างคุ้มค่า
2. บ้านหลังคาทรงสูง
ทรงหลังคานั้นสำคัญแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วคือสำคัญมาก เพราะหลังคาคือส่วนที่ได้รับแดดตลอดทั้งวัน การออกแบบทรงหลังคาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศของท้องถิ่นนั้น ๆ อาจเป็นตัวแปรทำให้บ้านอบอ้าวได้
ความสูง ความชันของหลังคา จึงเป็นอีกแนวทางการออกแบบบ้านที่ผ่านการเรียนรู้ การอยู่โดยอิงธรรมชาติ อาศัยการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์เข้าช่วย เมื่ออีกด้านรับแดด อีกด้านจะกลายเป็นร่มเงา ทำให้บ้านเย็นขึ้น
นอกจากการให้ร่มเงาในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ทรงหลังคาที่สูงขึ้นนั่นหมายถึงห้องใต้หลังคาก็สูงตามไปด้วย ทำให้มีพื้นที่ในการระบายอากาศ และมีพื้นที่สำหรับการรับลมใหม่ ถ่ายลมเก่าออก ความร้อนจากห้องใต้หลังคาจะไม่ถูกสะสมนาน บวกกับฉนวนกันความร้อน หรือ เทคโนโลยีในการหาวัสดุเพื่อบ้านเย็นต่างๆ ที่บริษัทรับสร้างบ้านมักนำมาใช้ก็ทำให้บ้านเย็นมากขึ้น ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้บ้านเย็นเช่นกัน
3. ต้นไม้และสภาพแวดล้อม
ต้นไม้และสภาพแวดล้อมรอบบ้านน่าจะเป็นแนวทางการออกแบบและสร้างบ้านเย็นด้วยธรรมชาติตรงตามความหมายอย่างชัดเจนที่สุด เพราะต้นไม้คือ ร่มเงา ช่วยกรองความร้อนไม่ให้เข้าสู่บ้าน และยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับบริเวณโดยรอบอีกด้วย นอกเหนือจากต้นไม้แล้ว ยังมีสภาพแวดล้อมรอบบ้านอื่นๆ ที่ช่วยเติมความเย็นให้กับบ้าน เช่น
- บ่อน้ำ บ่อเลี้ยงปลาเล็กๆ ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดการกักเก็บความร้อนของบริเวณบ้าน และยังช่วยลดอุณหภูมิก่อนเข้าบ้านได้ มากถึง 5 องศา
- ไม้คลุมดิน หรือ ปูหินทางเดิน เป็นการคุมอุณหภูมิรอบบ้านได้ดี คล้ายบ่อน้ำที่กักความร้อนไว้ไม่ให้กระจายเข้าสู่บ้าน
- สีทาบ้าน สีสะท้อนความร้อน หรือ นวัตกรรมเพื่อบ้านเย็นต่างๆ ก็ถือเป็นตัวช่วยเพื่อบ้านเย็นได้อีกทาง
ข้อควรระวังที่สุดในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อความเย็น คือ ต้องทำให้ถูกทิศ ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทรับสร้างบ้านที่ดูแล เพื่อเลือกออกแบบจัดวางให้เหมาะสมกับทิศทางลมและแดด เลือกจัดวางต้นไม้ไม่ให้กลายเป็นจุดดักลมหรือเสี่ยงต่อการโค่นล้มใส่บ้าน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัวด้วยเช่นกัน
แนวทางการออกแบบและสร้างบ้านเย็นด้วยธรรมชาติที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวทางหลักที่หากเลือกจัดวางให้ถูกที่ถูกทางตั้งแต่ต้น จะทำให้บ้านอยู่เย็นในระยะยาว แต่ยังมีปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆ ที่ต้องทำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศของท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นว่าที่เจ้าของบ้านควรมอบหมายให้บริษัทรับสร้างบ้านที่มีประสบการณ์สูงและมีผลงานการันตีช่วยดูแลการสร้างบ้าน ก็จะทำให้เปอร์เซ็นต์จะได้บ้านตามแบบที่ต้องการมีสูงขึ้น และไม่ต้องเสี่ยงลุ้นสภาพบ้านทีหลัง และคุณสามารถค้นหาบริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ ได้จากงานมหกรรมรับสร้างบ้านหรือเว็บไซต์ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน แหล่งรวมมืออาชีพด้านการรับสร้างบ้านระดับประเทศ
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท เมคเคอร์โฮม จำกัด
9 ซ.สายสิน ถ.ประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์: 08 1107 7888
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์: www.makerhome.com