บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

เจาะเรื่องเด่นกฎหมายควบคุมอาคารที่ควรรู้

11
พ.ย.
2564

 

 

สำหรับใครที่วางแผนจะสร้างบ้านบนพื้นที่ของตัวเอง นอกจากเลือกแบบบ้านที่ถูกใจผู้อยู่แล้ว ที่สำคัญและละเลยไม่ได้เลยก็คือ เจ้าของบ้านต้องศึกษากฎหมายควบคุมอาคารให้ดี เพื่อไม่ให้สร้างบ้านผิดกฎหมายและได้รับบทลงโทษ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้รวบรวมเรื่องเด่นกฎหมายควบคุมอาคารที่ควรรู้มาแบ่งปันให้กับว่าที่เจ้าของบ้านได้รับทราบ ก่อนลงหลักปักฐานสร้างบ้านของตัวเอง


กฎหมายควบคุมอาคารคืออะไร
?

กฎหมายเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และมีการจัดการด้าน การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันการควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดใช้กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งประกาศใช้ในปี 2543 และกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) โดยกำหนดให้มีระยะร่นอาคารและที่เว้นว่างเมื่อก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารไว้อย่างชัดเจน


ระยะร่นอาคารและที่เว้นว่างคืออะไร

ระยะร่น คือ ระยะห่างที่วัดจากตำแหน่งบนทางสาธารณะจนถึงแนวอาคาร ซึ่งมีทั้งการวัดจากเขตถนนและวัดจุดกึ่งกลางถนน โดยระยะร่นบ้านเดี่ยว ตึกแถว และอาคารสำนักงาน ก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทอาคารและขนาดของถนน ซึ่งระยะร่นจะต้องเป็นพื้นที่ว่างจากถนนจนถึงอาคาร โดยไม่สนใจแนวเขตที่ดินที่จะสร้างอาคารนั้น

ที่เว้นว่าง คือ ระยะห่างที่วัดจากแนวเขตที่ดินจนถึงแนวอาคารทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดที่เว้นว่างไว้ทั้งอาคารเดี่ยวและอาคารชุดที่เรียงติดกัน


10 ข้อกฎหมายควบคุมอาคารที่ควรรู้

1. สร้างบ้านชิดรั้วได้แต่ผนังต้องทึบและเจ้าของบ้านต้องได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ผนังบ้านจะต้องไม่มีหน้าต่าง ช่องลม ช่องแสงใด ๆ

2. ผนังบ้านด้านที่มีประตูหน้าต่างต้องห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 2 เมตร ตัวบ้านชั้น 1 และชั้น 2 จะต้องอยู่ห่างจากรั้วอย่างน้อย 2 เมตร หากเป็นบ้าน 3 ชั้น ต้องอยู่ห่างจากรั้วอย่างน้อย 3 เมตร

3. สร้างบ้านเต็มพื้นที่ไม่ได้ ขอบเขตของตัวบ้านต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 70% ของที่ดิน โดยตัวบ้านจะเอียงฝั่งซ้าย ฝั่งขวา หรือด้านหลังก็ได้

4. สร้างบ้านล้ำเข้าไปในถนนสาธารณะไม่ได้ โดยตัวบ้านต้องมีระยะห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร ซึ่งวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร

5. ที่ดินชิดถนนหักมุมจะต้องปาดแนวรั้วด้านละ 4 เมตร โดยบ้านที่อยู่ติดมุมถนนที่มีมุมหักถนน 2 ด้านน้อยกว่า 135 องศา และถนนกว้าง 3 เมตรขึ้นไป จะต้องปาดมุมรั้วด้านละ 4 เมตร เพื่อไม่ให้รั้วบ้านหรือกำแพงบดบังทัศนะวิสัยการมองเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์ โดยที่ดินส่วนที่ถูกปาดยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของบ้านอยู่เช่นเดิม

6. แต่ละห้องต้องมีหน้าต่างหรือช่องแสง ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน หรือห้องเก็บของ จะต้องมีพื้นที่สำหรับระบายอากาศทั้งประตู หน้าต่าง ช่องแสง ช่องลม รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ในห้อง

 


7. ห้องนอนต้องมีพื้นที่ใช้งานไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร และมีด้านแคบสุดไม่น้อยกว่า 5 เมตร

8. เพดานบ้านต้องสูงไม่น้อยกว่า 2.60 เมตร ส่วนเพดานห้องน้ำในพื้นที่ปกติต้องสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ทั้งนี้บ้านสมัยใหม่มักสร้างห้องน้ำใต้บันได ซึ่งต้องพิจารณาถึงระดับความสูงของเพดานห้องน้ำด้วย หากมีด้านที่สูงไม่ถึง 2 เมตร ก็ไม่สามารถทำเป็นห้องน้ำเพื่อใช้งานได้

9. บันไดเป็นจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงมีข้อกฎหมายบังคับไว้อย่างชัดเจนว่า บันไดในบ้านจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร และในแต่ละช่วงต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได หากบันไดสูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันได ซึ่งชานพักบันไดก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ช่วยลดระดับความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุได้

10. ติดเหล็กดัด ต้องมีช่องเปิดด้วย ในกรณีที่บ้านติดเหล็กดัด ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป จะต้องเว้นช่องว่างไม่น้อยกว่า 60 x 80 เซนติเมตร เพื่อเป็นการเปิดทางเข้าออกในกรณีที่ต้องกู้ภัยอันเนื่องจากอัคคีภัย ซึ่งการติดเหล็กดัดเป็นอีกหนึ่งสิ่งกีดขวางที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเหล็กดัดเท่านั้นจะยังรวมถึงลูกกรงหรือสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันด้วย


จาก 10 ข้อข้างต้น คือกฎหมายควบคุมอาคารเด่นๆ ที่เจ้าของบ้านควรทราบก่อนเริ่มสร้างบ้าน เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายจนต้องโดนโทษปรับหรือร้ายแรงจนถูกรื้อถอน ยังมีกฎหมายควบคุมอาคารข้อปลีกย่อยอื่นๆ อีก ดังนั้นการจะสร้างบ้านสักหลังควรเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่ไว้วางใจได้ มีประสบการณ์สูง ทำงานได้มาตรฐาน เพื่อให้บ้านของเราสวยงาม แข็งแรง ถูกกฎหมาย คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปและไม่ประสบปัญหาตามมาในภายหลัง

 

สนับสนุนบทความโดย

บริษัท โฟร์พัฒนา พรีเมี่ยม จำกัด

ที่อยู่ : 2 อาคารโฟร์พัฒนา ช.ลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

โทรศัพท์ : 0 2940 3789

เว็บไซต์ : www.fourpattanapremium.com 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154