บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

9 ทรงหลังคายอดนิยม เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน

26
พ.ค.
2563

 

 

หลังคา ถือเป็นโครงสร้างหลักและเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้บ้านมีเอกลักษณ์ บ่งบอกความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน ซึ่งนอกจากจะมีรูปทรงที่สวยงาม สร้างความแตกต่างให้กับแบบบ้านแล้ว หลังคาบ้านแต่ละแบบยังมีประโยชน์ที่แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติต่างๆ เช่น การรองรับกับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ การป้องกันและการระบายความร้อนเพื่อให้บ้านเย็นเหมาะกับการพักอาศัย

ในปัจจุบันหลังคามีให้เลือกหลากหลายแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิก และความต้องการของเจ้าของบ้าน รวมถึงคุณสมบัติของวัสดุที่เลือกใช้ ซึ่งสิ่งสำคัญของทุกการออกแบบที่ต้องคำนึงคือความสวยงาม ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของหลังคาที่เอื้อต่อการใช้งานสูงสุด ดังนั้นก่อนเลือกแบบบ้านมาดูกันก่อนว่าหลังคาแบบไหนเหมาะกับแบบบ้านสไตล์ใด และเข้ากับสภาพอากาศในเมืองไทยหรือไม่

1. หลังคาแบน

บ้านหลังคาแบน บางครั้งอาจถูกเรียกว่าบ้านไม่มีหลังคา หรือบ้านหลังคาเปลือย เป็นทรงหลังคาที่มีลักษณะแบนราบเป็นระนาบเดียวกับพื้น ถือเป็นทรงยอดนิยมสำหรับบ้านยุคใหม่ เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์น และทรอปิคอลโมเดิร์น

หลังคาประเภทนี้สามารถดูดซับความร้อนและรับน้ำฝนโดยตรง จึงต้องสร้างให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยเทไปยังช่องเจาะระบายน้ำฝนหรือท่อระบายบนหลังคา และมีการป้องกันการรั่วซึมที่ดี

เจ้าของบ้านสามารถใช้พื้นที่ของหลังคา ซึ่งเรียกว่าดาดฟ้า ให้เกิดเป็นประโยชน์ได้ เช่น จัดเป็นสวนบนดาดฟ้า สวนนั่งเล่น พื้นที่รับลมเย็นๆ ซึ่งเหมาะกับลักษณะบ้านในสังคมเมือง

 

2. หลังคาเพิงหมาแหงน

มีความโดดเด่นในด้านความสวยงามและความโมเดิร์นทำให้บ้านดูทันสมัย ลักษณะของหลังคาจะมีองศาเอียงที่ไปด้านเดียว เปรียบเสมือนหมาที่นั่งแหงนหน้าขึ้น

หลังคาทรงนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะเส้นสายและรูปทรงที่ดูเรียบเท่ ตอบโจทย์บ้านสไตล์โมเดิร์น ทั้งยังสามารถนำไปปรับให้เข้ากับแบบบ้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น บ้านสไตล์เนเชอรัล ที่อาศัยการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบองค์ประกอบอื่นๆ ให้สอดคล้องเข้ากันอย่างลงตัว

หลังคาเพิงหมาแหงนมีโครงสร้างหลังคาที่ไม่สลับซับซ้อน มีรอยต่อน้อยจึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง แต่ขณะเดียวกันควรระวังเรื่ององศาความลาดเอียงของตัวหลังคาที่จะทำให้เกิดปัญหาการรั่วซึมได้

 

แบบบ้าน ลีลาวดี : บริษัท สมอลล์เฮ้าส์บิวเดอร์ จํากัด

 

3. หลังคาปีกผีเสื้อ

ลักษณะทรงหลังคาคล้ายๆ กับผีเสื้อกำลังกระพือปีกเพื่อบิน ประกอบด้วยหลังคาเพิงหมาแหงน 2 หลังหันด้านที่ต่ำกว่ามาชนกัน ส่วนตรงกลางของหลังคา ทำเป็นรางน้ำซึ่งอาจทำให้เอนไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อระบายน้ำ

หลังคาทรงนี้ช่วยให้บ้านมีความเป็นโมเดิร์น ดูทันสมัย เรียบเท่แต่มีลูกเล่นที่แตกต่าง เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์น หรือบ้านสไตล์เนเชอรัล ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะและส่วนประกอบอื่นๆ ในการออกแบบเพื่อให้มีความสวยงามลงตัวที่สุด

 

 

4. หลังคาทรงหน้าจั่ว

มีลักษณะเป็นหน้าจั่วสามเหลี่ยมทอดยาวตลอดทั้งตัวหลังคา โดยจะผืนหลังคาที่มีความลาดเอียงสองด้านชนกันบริเวณปลายสูงสุดของหลังคา

เนื่องจากทรงของหลังคามีการยกสูง และมีพื้นที่ใต้หลังคามาก ทำให้สามารถระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี โดยความร้อนในบ้านจะลอยตัวมาอยู่ที่บริเวณหน้าจั่วด้านบน หากการออกแบบมีการทำช่องระบายอากาศเสริมบริเวณนี้ก็จะยิ่งเพิ่มการระบายความร้อนภายในบ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หลังคาทรงหน้าจั่วนิยมใช้กับบ้านสไตล์ร่วมสมัย สไตล์โมเดิร์น และสไตล์อื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบที่ลงตัวต่อการใช้งาน

 

5. หลังคาทรงปั้นหยา

ลักษณะเด่นของหลังคาทรงปั้นหยาจะครอบคลุมทุกทิศทางของบ้าน โดยมีด้านลาดเอียงทั้งสี่ด้านขึ้นไปชนกันเป็นจุดยอดรวม  และเป็นส่วนบนสุดของหลังคา

หลังคาทรงนี้จะมีความแข็งแรงกว่าแบบอื่นๆ ด้วยลักษณะของโครงสร้างหลังคาที่ทุกด้านบรรจบกันบนยอดสุดทำให้เกิดความมั่นคง ทั้งยังมีชายคายื่นยาวออกไปทุกทิศทางจึงช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนได้ดี แต่ในการสร้างนั้นทีมช่างจะต้องมีความชำนาญที่มากพอ เพราะตัวหลังคามีจุดเชื่อมต่อมากกว่าแบบอื่น อาจทำให้เกิดปัญหารั่วซึมได้

หลังคาทรงปั้นหยาสามารถนำมาสร้างกับแบบบ้านได้หลากหลายสไตล์ เช่น สไตล์ร่วมสมัย สไตล์โมเดิร์น สไตล์ไทยประยุกต์

 

 

 

แบบบ้าน มาลาการ : บริษัท สมอลล์เฮ้าส์บิวเดอร์ จํากัด

 

6. หลังคาทรงมะนิลา

แบบทรงหลังคาบ้านที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างทรงปั้นหยากับทรงหน้าจั่ว และนำข้อดีของทั้งสองแบบมาประยุกต์ใช้ คือความแข็งแรง สามารถในการรับแรงปะทะจากลมแดดลมฝนจากทุกทิศทางของทรงปั้นหยา และความสามารถในการระบายความร้อนได้ดีของทรงหน้าจั่ว

ด้วยความเป็นการผสมผสานระหว่างแบบหลังคาสองทรง จึงทำให้มีความซับซ้อนของทรงหลังคาและอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการรั่วซึมในช่วงรอยต่อหลังคาได้ ดังนั้นทีมทช่างที่ก่อสร้างจึงต้องมีความชำนาญอย่างดี

หลังคาทรงนี้สามารถนำรวมไว้ในแบบบ้านสไตล์คันทรี่ สไตล์ร่วมสมัย สไตล์ไทยประยุกต์ซึ่งมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และสไตล์โคโลเนียลทีมีความโดดเด่นของศิลปะตะวันตกอย่างลงตัว

 

7. หลังคาทรงโค้งกลม

 

เป็นรูปทรงหลังคาที่มีความโดดเด่นด้วยความโค้งมนที่ดึงดูดความสนใจ และบ่งบอกความเป็นตัวตนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเจ้าของบ้านได้อย่างดี หลังคาทรงนี้จะนิยมออกแบบให้มีชายคายื่นออกไปจากตัวบ้าน

หลังคาทรงนี้สามารถสร้างผิวโค้งได้หลากหลายรูปทรง และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการรั่วซึม แต่การออกแบบนั้นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการคำนวณเรื่องโครงสร้างที่จะรองรับ เพื่อความสวยงาม มีมาตรฐานและความปลอดภัย

หลังคาทรงโค้งกลมสามารถออกแบบให้เข้ากับบ้านได้หลายสไตล์ขึ้นอยู่กับการออกแบบ และความต้องการของเจ้าของบ้านและความลงตัว

8. หลังคาทรงหลายเหลี่ยม

หลังคาทรงหลายเหลี่ยมมีความคล้ายคลึงกับหลังคาทรงปั้นหยา แต่จะต่างกันตรงที่หลังคาทรงปั้นหยานั้นจะมีส่วนประกอบของผืนหลังคาสี่ด้านลาดเอียงไปเจอกันด้านบนสุด ส่วนหลังคาหลายเหลี่ยมจะมีผืนหลังคามากกว่าสี่ด้าน เช่น แบบหกเหลี่ยม จะมีผืนหลังคาหกผืนลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนสุด และแบบแปดเหลี่ยม จะมีผืนหลังคาแปดผืนลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนสุด

หลังคาทรงนี้จะถูกใช้กับส่วนของศาลาหรือพื้นที่ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของบ้าน เช่น โถงสูงของห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก และสามารถนำมาปรับใช้กับแบบบ้านหลายสไตล์ เช่น สไตล์เนเชอรัล สไตล์คลาสสิก

 

9. หลังคาทรงโดม

เป็นแบบหลังคาที่มีความประณีตสวยงาม มีลักษณะโค้งมนคล้ายผลส้มผ่าครึ่งคว่ำ สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการเลือกใช้หลังคาทรงนี้คือการป้องกันเรื่องการรั่วซึมบริเวณรอยต่อระหว่างวัสดุที่ใช้ทำหลังคากับโครงสร้างที่รองรับ รวมทั้งควรเลือกใช้บริการทีมงานทีมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ

หลังคาทรงโดมเหมาะกับแบบบ้านสไตล์คลาสสิก ซึ่งจะช่วยเสริมให้บ้านดูโดดเด่น ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น

 

หลังคามีหลายรูปทรง หลายแบบ การจะเลือกให้เหมาะสมกับแบบบ้านเพื่อให้เกิดความสวยงามลงตัวถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมเรื่องคาวมแข็งแรง ความปลอดภัย และความเหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นที่ รวมทั้งการออกแบบอย่างมีมาตรฐานโดยควรมีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการ ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านถือเป็นทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกความต้องการของคุณ

 

สนับสนุนบทความโดย

บริษัท สมอลล์เฮ้าส์บิวเดอร์ จํากัด

8 ซอยอ่อนนุช 46 ถนนอ่อนนุช แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

โทรศัพท์ : 0 2721 3999

เว็บไซต์ : www.smallhouse.co.th

 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154