บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

สร้างบ้านอย่างไรให้อยู่เย็น สุขสบายระยะยาว?

22
ก.พ.
2566

 

แบบบ้านหรู

 

บ้าน หมายถึงที่อยู่อาศัย และยังเป็นสถานที่ที่เราได้เป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด เป็นที่พักกาย พักใจจากวันที่เหนื่อยล้า และในปัจจุบันที่ลักษณะการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้เราใช้เวลาอยู่กับบ้านมากกว่าเดิม ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับบ้านหลังงามของเราคือ บ้านควรจะอยู่เย็น เพื่อความสุขสบายในระยะยาว และยังช่วยประหยัดค่าไฟอีกด้วย ซึ่งการสร้างบ้านให้อยู่เย็นนั้นไม่ใช่เรื่องยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องมีการวางแผนตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะให้ผลลัพธ์แสนสบายในระยะยาว การสร้างบ้านให้อยู่เย็นต้องวางแผนอย่างไรบ้าง สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้รวบรวมมาให้ไว้ในบทความนี้แล้ว

 

สร้างบ้านอย่างไรให้อยู่เย็น สุขสบายระยะยาว?


1. วางแปลนบ้านหลบแดดแต่รับลม

จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด คือการวางแปลนบ้านให้ถูกทิศทาง โดยเริ่มจากการสำรวจทิศทางแสงอาทิตย์และลม ในช่วงเวลาเช้า สาย บ่าย และเย็น เพื่อให้มองเห็นทิศทางของแดดในแต่ละช่วงเวลา หลังจากนั้นจึงออกแบบบ้านโดยวางตำแหน่งให้ตัวบ้านขนานแนวโคจรของดวงอาทิตย์ ให้ด้านแคบของบ้านหันไปทิศตะวันออกและตะวันตกซึ่งมีแดดแรง แล้วหันด้านยาวหรือส่วนที่กว้างของบ้านไปทางทิศเหนือและใต้ซึ่งได้รับแดดน้อยกว่า และทำช่องหน้าต่างเปิดรับลมธรรมชาติให้มากที่สุด


2. เลือกหลังคาช่วยสกัดกั้นความร้อน

หลังคาเป็นปราการด่านแรกที่จะช่วยสกัดกั้นความร้อน หากต้องการบ้านที่อยู่เย็นสบาย ควรออกแบบหลังคาลดร้อน ดังนี้

    • หลังคาทรงสูงโปร่งและมีความลาดเอียง จะลดความร้อนได้ดีกว่าแบบเรียบ เพราะความลาดเอียงจะลดพื้นที่ในการรับแสงแดด และยังช่วยให้ระบายน้ำฝนออกได้อย่างรวดเร็ว
    • เพิ่มพื้นที่ว่างใต้หลังคาให้อากาศไหลเวียนพัดผ่านได้ดี และมีการทำช่องระบายใต้หลังคา จะช่วยลดความร้อนที่สะสมอยู่ภายในได้
    • ชายคายื่นยาวโดยรอบอย่างน้อย 1.50 เมตร เพื่อป้องกันแสงแดดส่องเข้าภายในตัวบ้าน อีกทั้งยังช่วยกันน้ำฝนที่สาดเข้ามารอบทิศทางตามแรงลมและพายุด้วย
    • ติดตั้งระบบระบายอากาศใต้หลังคา เพื่อให้ลมพัดพาความร้อนใต้หลังคาออกไปได้ เช่น การทำฝ้าชายคาเว้นร่อง หรือทำหลังคาสองชั้น
    • ติดตั้งระบบป้องกันความร้อน ได้แก่ ฉนวนกันความร้อนประเภทต่างๆ ใต้หลังคา เพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอก



3. ใช้ผนังกันความร้อน

ผนังเป็นพื้นที่ส่วนที่มากที่สุดของบ้าน และยังรับแสงแดดความร้อนตลอดทั้งวัน ดังนั้นวัสดุที่ใช้ก่อผนังและมีคุณสมบัติป้องกันความร้อนได้ดี ได้แก่ ผนังอิฐมอญ อิฐมวลเบา และเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ด้วยเทคนิคการก่อผนังหนาสองชั้น และเว้นช่องว่างตรงกลางเพื่อให้ระบายอากาศได้ นอกจากนี้ผนังด้านที่โดนแดดเกือบทั้งวัน ได้แก่ ทิศตะวันตก และทิศใต้ หากเพิ่มฉนวนกันความร้อนที่ผนัง ก็จะทำให้บ้านเย็นสบายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม


4. ลดพื้นที่สะสมความร้อน

พื้นที่สะสมความร้อน เป็นพื้นที่เป็นผืนทำจากวัสดุที่มีมวลหนาแน่น เช่น พื้นคอนกรีต หลังคาคอนกรีต ผนังปูน ซึ่งพื้นที่เช่นนี้จะเก็บสะสมความร้อนระหว่างวันไว้ได้นาน จากนั้นจะคายความร้อนออกมาในตอนเย็นและกลางคืน เมื่อลมพัดผ่านก็จะนำความร้อนเข้าบ้านไปด้วย ทำให้รู้สึกบ้านร้อนตลอดทั้งวัน แม้จะไม่มีแสงแดดแล้วก็ตาม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเทปูนรอบบ้าน เปลี่ยนเป็นบล็อกหญ้า พื้นดินแทน หรือหากหลีกเลี่ยงได้ยากให้แก้ไขโดยการเพิ่มร่มเงาเพื่อลดการสะสมความร้อน


5. สภาพแวดล้อมรอบตัวบ้านช่วยลดความร้อนได้

นอกจากตัวบ้านแล้ว สภาพแวดล้อมรอบๆ บ้าน ก็ส่งผลให้บ้านอยู่เย็นสบายตลอดทั้งวัน ด้วยการเลือกตกแต่งจัดวางตัวช่วยคลายร้อน ดังต่อไปนี้

  • ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาช่วยลดอุณหภูมิ และเพิ่มปริมาณความชื้นในอากาศ
  • พื้นที่เปิดโล่ง ช่วยหมุนเวียนระบายอากาศภายในบริเวณบ้าน
  • บ่อน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นและลดการกักเก็บความร้อนของพื้นที่
  • วัสดุปูพื้นรอบบ้านช่วยกักเก็บความชื้นได้ เช่น พื้นตัวหนอน พื้นอิฐ พื้นหิน หรือการทำระเบียงไม้ สนามหญ้า
  • สีทาบ้านโทนอ่อน ช่วยสะท้อนความร้อนออกไปจากตัวบ้าน

 

จะเห็นได้ว่า การจะสร้างบ้านอยู่เย็น สุขสบายในระยะยาว หากวางแผนอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยสักนิด เรียกได้ว่าเริ่มต้นดีมีบ้านเย็นไปทั้งชีวิต ดังนั้นแล้วนอกจากเลือกแบบบ้านที่ถูกใจ เจ้าของบ้านต้องเลือกบริษัทรับสร้างบ้านให้ถูกต้องด้วย ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านที่ได้มาตรฐานและมีประสบการณ์สูง จะออกแบบก่อสร้างและเลือกวัสดุเพื่อรับมือกับความร้อนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีคำแนะนำที่มีประโยชน์ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้รับบ้านสวย อยู่สบายในระยะยาวอีกด้วย

 

 

สนับสนุนบทความโดย

บริษัท เนเชอรัลโฮม จำกัด

ที่อยู่: 15/10 ถ.สายไหม แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ 10220

โทรศัพท์: 0 2991 8338

เว็บไซต์: www.naturalhome.co.th 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154