1
เหตุเพลิงไหม้ หรืออัคคีภัย เป็นเหตุที่หลายคนไม่อยากให้เกิด เพราะนั่นหมายถึงความเสียหายที่อาจทำให้หลายคนหมดตัวได้ ดังนั้นคุณจะทำอย่างไรหากมีบ้านที่อยู่อาศัย หรือบ้านที่กำลังก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตเพลิงไหม้ วันนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านมีกฎหมายควบคุมอาคารที่ควรรู้มาฝาก จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจหรือข้อควรปฏิบัติอย่างไร ตามไปดูกันค่ะ
คำจำกัดความของ กฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายควบคุมอาคาร คือ กฎหมายที่ใช้เพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบการระบายอากาศ รวมถึงการก่อสร้างอาคารให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และมีการจัดการด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ และควบคุมด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ในส่วนของการประกาศเขตเพลิงไหม้ได้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนประชาชนผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้สอดคล้องกัน โดยออกเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติการควบคุมการก่อสร้างในเขตเพลิงไหม้ พ.ศ. 2543
คำจำกัดความของเขตเพลิงไหม้
ก่อนที่จะไปถึงรายละเอียดว่าทำอย่างไรหากบ้านที่กำลังก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตเพลิงไหม้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านขอพาคุณไปทำความเข้าใจคำจำกัดความของเขตเพลิงไหม้ก่อน เพื่อให้เราจัดการได้อย่างถูกต้องเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้น
เขตเพลิงไหม้ หมายถึง บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้อาคารตั้งแต่ 30 หลังคาเรือนขึ้นไป หรือมีพื้นที่บริเวณที่ถูกเพลิงไหม้ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ติดต่อกับบริเวณที่ถูกเพลิงไหม้โดยรอบในระยะ 30 เมตร ด้วย โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้
1. หากมีอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าข่ายตามคำจำกัดความ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะจัดทำแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตเพลิงไหม้ ซึ่งจะมีระยะ 30 เมตร โดยรอบพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้ มีรายละเอียดของแนวถนน ตรอก ซอย คลอง แม่น้ำ ตำแหน่งของอาคารหรือ สถานที่ตั้งที่สำคัญ ซึ่งประกาศเขตเพลิงไหม้จะแจ้งห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารในเขตเพลิงไหม้ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่เกิดเพลิงไหม้ แต่จะได้รับอนุญาตการรื้อถอนแค่ 2 กรณีคือ
- กรณีการก่อสร้างอาคารของทางราชการ เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาทุกข์ ซึ่งจัดทำหรือควบคุมโดยทางราชการ
- กรณีการดัดแปลงหรือซ่อมแซมอาคารเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่ออยู่อาศัยหรือใช้สอยชั่วคราว
เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะพิจารณาว่าสมควรจะมีการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้หรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัยการสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่เกิดเพลิงไหม้
2. หากไม่เข้าข่ายตามคำจำกัดความ
ท้องถิ่นจะแจ้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ ไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารแต่อย่างใด
การประกาศปรับปรุงเขตเพลิงไหม้
1. หากมีมติไม่ปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศไม่ปรับปรุงเขตเพลิงไหม้พร้อมทั้งยกเลิกแผนผังแนวเขตเพลิงไหม้ และยกเลิกประกาศห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ให้ประชาชนทราบ
2. หากมีมติปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ จะออกประกาศห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ให้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่มีประกาศปรับปรุงเขตเพลิงไหม้นั้น เจ้าหน้าที่จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ตามประกาศใช้บังคับแผนผังปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ทั้งหมดภายใน 2 ปี นับแต่วันใช้ประกาศ
ทำอย่างไรเมื่อบ้านที่กำลังก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ประกาศเหตุเพลิงไหม้
หากบ้านที่กำลังก่อสร้างเข้าข่ายและอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตเพลิงไหม้ตามคำจำกัดความเขตเพลิงไหม้แล้ว ให้รอท้องถิ่นเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของใดๆ เป็นระยะเวลา 45 วัน และรอการประกาศเพิ่มเติม หากไม่มีการประกาศปรับปรุงก็สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างบ้านได้ตามเดิม
แน่นอนว่าเหตุเพลิงไหม้เป็นเหตุสุดวิสัยไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ตั้งแต่เริ่มเลือกทำเลการสร้างบ้านที่ไม่แออัดติดชุมชน ถนนทางเข้า-ออก สะดวกหากมีเหตุที่ต้องใช้รถดับเพลิง รวมถึงหากได้นักออกแบบบ้าน หรือ บริษัทรับสร้างบ้านที่วางแผนร่นตามกฎหมายที่ถูกต้องปลอดโปร่ง ลมถ่ายเทสะดวก มีการทำงานที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อป้องกันความรุนแรงเสียหายก็ถือว่าเป็นการป้องกันเหตุได้ และหากเกิดเหตุขึ้นกับบ้านของเราจริงๆ เชื่อว่า นี่เองก็จะสามารถให้เราทราบถึงขั้นตอนการทำงานแต่ละส่วนของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ เช่นกัน