การลงทุนก้อนที่ใหญ่ที่สุด หากจะตอบว่าคือการสร้างบ้าน ก็คงไม่ผิด ยิ่งเป็นการสร้างบ้านด้วยเงินกู้บวกดอกเบี้ยด้วยแล้ว ระยะเวลาผ่อนน่าจะทำให้หลายคนขยันทำงานหาเงินกันอีกไม่รู้เท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อลงทุนสร้างบ้านทั้งทีก็ต้องวางแผนเพื่อให้บ้านที่ถูกใจ คุ้มค่ากับการลงทุนที่สุด และสำหรับปัจจัยที่มีผลกับการวางแผนสร้างบ้านให้ถูกใจ คุ้มค่ากับการลงทุนนั้นต้องมีอะไรบ้าง วันนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน นำข้อมูลดีๆ มาฝากกัน
5 ปัจจัยวางแผนสร้างบ้านให้ถูกใจ คุ้มค่ากับการลงทุน
1. เสาเข็ม
การปลูกบ้านก็เหมือนการปลูกต้นไม้ หากรากฐานดี ที่เหลือก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพื่อความปลอดภัยและอายุการใช้งานระยะยาว การเลือกจำนวนเข็ม ความยาว ขนาด ชนิดของเสาเข็มแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับแบบบ้านและการใช้งานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเสาที่จะใช้มีรายละเอียดของคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ตามการออกแบบทางวิศวกรรม รวมถึงต้องคำนึงถึงตัวแปรต่างๆ เช่น
- น้ำหนักของบ้าน สิ่งปลูกสร้าง ที่จะถ่ายลงสู่ดิน
- สภาพของชั้นดินของสิ่งปลูกสร้าง
- ขนาดของพื้นที่และขนาดบ้าน
- งบประมาณ
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐาน ไม่ควรลด เปลี่ยนขนาด หรือประเภทเสาเข็ม โดยพลการ และต้องกระทำโดยการคำนวณจากวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้าง ที่มีใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น
2. ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
ระบบต่างๆ ที่ผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกับโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้น ย่อมทำให้บ้านดูเป็นระเบียบ เรียบร้อย ทำความสะอาดง่าย รวมไปถึงความปลอดภัยร่วมด้วย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงระบบใหญ่ๆ ในบ้าน อย่าง ระบบไฟฟ้า และระบบประปา ดังนี้
- ระบบไฟฟ้า คงแปลกแน่ๆ ถ้าบ้าน luxury วางตำแหน่งปลั๊กสูง-ต่ำไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน สายไฟ ระโยงระยางไม่เป็นระเบียบ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยตัวเอง แต่หากเป็นที่การเดินสายภายในฝังซ่อนอยู่ตามเพดานหรือผนังที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ หากเลือกวัสดุที่ไม่ดี ไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน อุปกรณ์ไม่มีมาตรฐานย่อมไม่คุ้มเสียแน่นอน การลงทุนกับอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการลัดวงจร จึงเป็นอีกอย่างที่ควรลงทุนอย่างยิ่ง
- ระบบประปา งานออกแบบบ้านส่วนใหญ่จะมีการแบ่งพื้นที่ส่วนเปียก ส่วนแห้ง ชัดเจน ซึ่งต้องมีการเดินระบบท่อน้ำผ่านไปยังส่วนต่างๆ ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง ต้องเลือกท่อน้ำให้เหมาะกับแรงดันนั้นๆ ด้วย เพราะหากท่อเล็กไม่สัมพันธ์กัน ต้องทุบ ต้องรื้อ ปะฉาบ ทาสี วนลูปอยู่แบบนี้ไม่ดีแน่ๆ นอกจากจะเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังรำคาญใจอีกด้วย ดังนั้นลงทุนรอบเดียว ให้จบจากบริษัทรับสร้างบ้านที่มีประสบการณ์ไปเลยดีกว่า
3. หลังคา
อีกส่วนประกอบของบ้านที่อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบในระยะสั้น แต่หากบ้านไหนละเลยเลือกประเภท หรือทรงหลังคา ไม่เหมาะกับแดด ฝน ลม พายุ คงได้ฤกษ์เปลี่ยนเร็วกว่าบ้านอื่นแน่นอน หากโชคดีเห็นรอยรั่ว ความซ้อนทับไม่สบกันอย่างชัดเจนก็ดีไป แต่ที่จะเป็นปัญหาลามไปใหญ่ก็คงจะเป็นการรั่วซึมสะสมเป็นความชื้นที่ฝา หรือผนังบ้าน ส่งผลต่อสุขภาพอีกแน่นอน
อีกอย่างที่สำคัญจัดเป็นส่วนนึงของการลงทุนกับการวางแผนการสร้างบ้านในส่วนของหลังคาก็คือ ฉนวนกันความร้อน ระบบระบายความร้อนใต้หลังคา ซึ่งนี่คือตัวแปรสำคัญในการทำให้บ้านเย็น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้นั่นเอง
4. อิงธรรมชาติประหยัดพลังงาน
โดยมากบริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ จะออกแบบบ้านโดยอิงทิศทางลม แดด ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติกลายๆ ในยุค ECO ที่ต้องใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการเคารพธรรมชาติแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน การวางแปลนให้ห้องนอนรับแดดช่วงเช้า และวางห้องน้ำห้องครัวรับแดดที่อ้อมไปตกทางทิศตะวันตกก็เป็นการวางแปลนเพื่อประหยัดพลังงานเช่นกัน หรือการวางแปลนบ้านโดยไม่ขวางลม ให้บ้านเปิดรับลม ระบายลมได้ บ้านของเราก็ไม่ต้องตกใจกับค่าไฟในแต่ละเดือนแน่นอน
5. ความต้องการของสมาชิก
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ คำนี้จริงเสมอ ที่เห็นตัวอย่างได้ชัดก็น่าจะเป็นบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ ความต้องการในการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ อย่างทางลาดสำหรับรถเข็น ราวจับ จุดไฟอัตโนมัติ สุขภัณฑ์ต่างๆ โดยรวมแล้วถือเป็นการสำรวจความต้องการ เพื่อการวางแผนการสร้างบ้านเบื้องต้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทั้งแง่ของสภาพจิตใจที่ได้รับความสำคัญ และแง่ของความปลอดภัย
จะเห็นได้ว่าการลงทุนสร้างบ้านหนึ่งหลัง ไม่ใช่แค่เรื่องของวัสดุอุปกรณ์หรือระบบเพียงเท่านั้น แต่เพื่อให้บ้านเป็นบ้านที่ให้ความอบอุ่นกายและใจ การวางแผนการสร้างบ้านไม่ว่าจะสร้างเอง หรือสร้างบ้านโดยบริษัทรับสร้างบ้าน ก็ต้องคำนึงถึงสมาชิกของบ้านด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินก้อนใหญ่ที่เราขวนขวายหามาก็เพื่อเป็นของขวัญ ถือเป็นการลงทุนกับตัวเองและครอบครัวอยู่ดี
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท ไวส์ บิวเดอร์ จำกัด
99/33 ซ.แจ้งวัฒนะ 13 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์: 0 2574 5616
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์: www.wisebuilder.co.th