บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

ฐานรากและตอม่อ สร้างอย่างไรให้บ้านมีมาตรฐาน

22
ก.พ.
2565

 

 

ในขั้นตอนการสร้างบ้านนั้นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะยากแก่การแก้ไขในภายหลัง คือ ส่วนฐานรากและตอม่อ ที่จะเป็นตัวรับน้ำหนักทั้งบ้านเอาไว้ หรือที่เรามักจะได้ยินช่างหรือวิศวกรเรียกว่า Footing นั่นเอง ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจเรื่องการสร้างฐานรากและตอม่อที่ได้มาตรฐาน เพื่อหาทางป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในขั้นตอนแรกๆ ของการก่อสร้าง

 

ฐานรากและตอม่อ สร้างอย่างไรให้บ้านมีมาตรฐาน?


1. ฐานราก (Footing)


เป็นโครงสร้างส่วนที่อยู่ใต้ผิวดินทำหน้าที่รับน้ำหนักจากโครงสร้างทั้งหมด แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาเข็มหรือดินโดยตรง ฐานรากที่ได้มาตรฐานจะต้องไม่เกิดการทรุดตัวลงไปมาก จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้าง


การสร้างฐานรากที่ได้มาตรฐาน

  • เลือกใช้ฐานรากให้เหมาะกับแบบบ้านและลักษณะการก่อสร้าง โดยสามารถแบ่งประเภทฐานรากได้ดังนี้

  • ฐานรากตื้น (Shallow Foundation) หรือแบบไม่มีเสาเข็มมารองรับ ฐานรากจะวางอยู่บนชั้นดินโดยตรง ไม่มีการตอกเสาเข็ม เหมาะกับสภาพพื้นดินที่มีความสามารถแบกรับน้ำหนักได้สูง หรือพื้นดินที่ยากต่อการตอกเสาเข็ม เช่น พื้นที่ดินลูกรัง พื้นที่ภูเขาทะเลทราย เป็นต้น

  • ฐานรากลึก (Deep Foundation) หรือแบบมีเสาเข็มรองรับ หมายถึงฐานรากที่ถ่ายน้ำหนักโครงสร้างลงสู่ดินด้วยเสาเข็ม เหมาะกับการก่อสร้างบนดินอ่อน จึงมักมีการออกแบบฐานรากให้มีเสาเข็มและความลึกเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนัก และความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

  • ระมัดระวังในขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ หากชั้นดินที่รองรับฐานรากมีคุณสมบัติในการแบกรับน้ำหนักได้ต่ำ ควรจะขุดดินส่วนพื้นที่นั้นออกแล้วแทนที่ด้วยกรวดหรือทรายที่ทำการบดอัดให้แน่น ห้ามวางฐานรากไว้บนผิวดินที่ไม่ขุดดินออก เพราะความชื้นจากน้ำที่อยู่ในดินจะเซาะข้างใต้ของฐานราก หลีกเลี่ยงการสร้างฐานรากในพื้นที่ต่างระดับกัน เพราะจะทำให้ดินที่อยู่ฐานรากต้องรองรับน้ำหนักของฐานรากทั้งสองฐาน เป็นผลทำให้ฐานรากเกิดการทรุดตัว

  • ตรวจสอบวัสดุของฐานรากให้ถูกต้องตามแบบ ฐานรากเป็นส่วนที่ยากต่อการกลับมาตรวจสอบในภายหลัง ดังนั้นในขั้นตอนการก่อสร้างต้องถูกต้องตามแบบทุกจุด โดยบริษัทรับสร้างบ้านต้องตรวจสอบขนาดของฐานราก ระยะศูนย์กลางของฐานราก เหล็กเสริมฐานราก และตำแหน่งของฐานรากให้ตรงกับแบบ ที่วิศวกรโครงสร้างออกแบบไว้ โดยขนาดของหลุมฐานรากจะกำหนดให้ห่างจากขอบฐานรากโดยรอบไม่น้อยกว่า 0.25 เมตร ถ้ามีน้ำและดินเลนบริเวณโดยรอบก้นหลุมต้องเอาออกและทำความสะอาดหลุมให้แห้งก่อนการเททรายและคอนกรีต

  • การติดตั้งไม้แบบและเทคอนกรีต ต้องติดตั้งให้ได้ขนาดตามแบบ มีความหนาแน่นและมั่นคง ไม่เคลื่อนขณะเทคอนกรีต การเทคอนกรีตจำเป็นต้องเทให้เป็นชั้นๆ เขย่าโดยการใช้เครื่องจี้เพื่อให้คอนกรีตแน่น และคอนกรีตต้องมีกำลังตามที่วิศวกรออกแบบไว้



 
2. เสาตอม่อ (Ground Column)


คือ เสาสั้นที่จมอยู่ใต้ดิน อยู่ล่างสุดระหว่างฐานรากกับคาน ส่วนมากจะมีความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ทำหน้าที่ปรับระดับของโครงสร้างคานชั้นล่างและรับน้ำหนักของเสาที่อยู่ชั้นบน และรับแรงอัดหรือน้ำหนักในทางดิ่ง แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากและเสาเข็ม เสาตอม่อมีความเกี่ยวพันกับงานฐานรากอย่างมาก ดังนั้นต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังในการก่อสร้างไปพร้อมๆ กัน


การก่อสร้างเสาตอม่อให้ได้มาตรฐานต้องทำอย่างไร
?

  • ในตอนก่อสร้างฐานรากนั้นจะต้องวางเหล็กเสริมเสาตอม่อไปพร้อมกับฐานราก และต้องตรวจสอบให้เสาตอม่อ อยู่กึ่งกลางฐานราก ไม่ให้เกิดการเยื้องศูนย์

  • ทำแนวการตั้งไม้แบบโดยการขีดเส้นเพื่อสะดวกต่อการประกอบแบบหล่อ จากนั้นติดตั้งแบบหล่อเสาตอม่อพร้อมค้ำยัน แล้วหาระดับความสูงของเสาตอม่อโดยเทียบกับระดับ +0.00 ซึ่งระดับที่ได้นี้จะเป็นระดับการเทคอนกรีตด้วย

  • เทคอนกรีตเสาตอม่อให้ได้ระดับตามที่ออกแบบไว้ และทำให้คอนกรีตแน่นขึ้นโดยใช้เครื่องสั่นคอนกรีตหรือใช้ไม้กระทุ้ง คอนกรีตที่ใช้เทต้องเป็นคอนกรีตสำหรับงานโครงสร้างโดยเฉพาะ

  • ปล่อยให้คอนกรีตแข็งตัวประมาณ 2 วัน ถึงจะถอดไม้แบบออกได้ จากนั้นทำการบ่มคอนกรีตโดยจะใช้วิธีบ่มชื้นหรือใช้พลาสติกคลุมหรือใช้น้ำยาบ่มคอนกรีตก็ได้

  • เมื่อทำฐานรากและเสาตอม่อเรียบร้อยแล้ว ทำการถมดินฐานราก และจะทำการก่อสร้างคาน พื้น เสา ในลำดับต่อไป

 

จะเห็นว่าการสร้างฐานรากและตอม่อนั้น ต้องสร้างให้ตรงตามแบบที่กำหนด เพื่อให้โครงสร้างบ้านแข็งแรงทนทาน ป้องกันปัญหาบ้านทรุดที่จะนำพาความเสียหายใหญ่หลวงมาในภายหลัง และควรควบคุมการก่อสร้างโดยบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เป็นมืออาชีพ และทำงานได้มาตรฐาน เพราะหลังจากระบบฐานรากสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจะอยู่ใต้ดิน ยากแก่การตรวจสอบหรือแก้ไขในภายหลัง

 

สนับสนุนบทความโดย

     

บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด

1148 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

โทรศัพท์ : 0 2459 4646

อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

เว็บไซต์ : www.royalhouse.co.th 

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154