เมื่อกำลังจะเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชน หมู่บ้านใดก็ตามแต่ที่เราเลือกพื้นที่นั้น ๆ แล้ว การก่อสร้างบ้านหนึ่งหลังไม่เพียงแค่จะต้องปรับตัว ออกแบบบ้านเพื่อความเข้ากันของภูมิทัศน์ การสร้างบ้านให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยและความเรียบร้อยของบ้านเมืองก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด วันนี้ ริชชี่ เฮ้าส์ นำบทความดีดี มาฝาก ให้มือใหม่อยากสร้างบ้าน เข้าใจง่าย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านมีอะไรบ้าง? มาดูกันค่ะ
1. เตรียมพื้นที่
การสร้างบ้านครั้งนี้จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ของตัวเอง หรือ ที่ดินแบ่งขาย สิ่งที่ต้องศึกษาเป็นอันดับแรกคือการรู้จักพื้นที่ ประวัติ เพื่อให้ง่ายและสามารถประเมินการก่อสร้างและงบประมาณในการขุด-ถมเตรียมพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น เช่น ระดับพื้นที่ต่ำกว่าระดับถนนหรือไม่? / เคยเป็นพื้นที่น้ำท่วม หรือ มีน้ำขัง หรือไม่?
ความปลอดภัยเหล่านี้จะถูกควบคุมด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มาตรา 71 ที่บัญญัติไว้ว่า " การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารพักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวซึ่งมีพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ตึกแถว ห้องแถว บ้านแถวหรือบ้านแฝด และอาคารชั่วคราว ให้แสดงแบบระบบบำบัดน้ำเสียของแต่ละหน่วย "
ดังนั้นเมื่อถูกควบคุมการก่อสร้างด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เจ้าของบ้านที่ต้องการขุดหรือถม จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับในรายละเอียดตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543 ดังนี้
มาตรา 17
ผู้ใดประสงค์จะทำการขุดดิน โดยมีความลึกจากระดับพื้นดินเกินสามเมตร หรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกินหนึ่งพันตารางเมตร หรือมีความลึกหรือพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด
มาตรา 24
การขุดดินโดยมีความลึกจากระดับพื้นดินไม่เกินสามเมตร เมื่อจะขุดดินใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะน้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อดินที่จะขุดดิน ต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดินตามวิสัยที่ควรกระทำ
มาตรา 26
ผู้ใดประสงค์จะทำการถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินต่างเจ้าของที่อยู่ใกล้เคียง และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกินสองพันตารางเมตร หรือ มีพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ข้างเคียงหรือบุคคลอื่น
พื้นที่ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกินสองพันตารางเมตร
การถมดินที่มีพื้นที่เกินสองพันตารางเมตร หรือ มีพื้นที่เกินกว่าที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องจัดให้มีการระบายน้ำตามวรรคหนึ่ง ต้องแจ้งการถมดินนั้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด
2. การขออนุญาตการก่อสร้าง
เมื่อทำการปรับพื้นที่ที่ก่อสร้างแล้ว ขั้นตอนสำคัญที่เราจะต้องทำคือ การขออนุญาตก่อสร้าง (ในขั้นตอนนี้หากใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านแล้วเราสามารถย่นระยะเวลาลงได้) โดยการขออนุญาตก่อสร้างนี้อยู่ภายใต้ข้อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
มาตรา 21
ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
มาตรา 21 ทวิ
การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารชนิดหรือประเภทที่กฎกระทรวงกำหนดให้มีการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณต่าง ๆ ของโครงสร้างอาคารผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้แจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ต้องจัดให้มีการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. การก่อสร้าง ระยะแนวร่น
เมื่อได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างแล้ว หากใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านก็เบาใจไปได้ด้วยผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์และฝ่ายกฎหมาย ที่คอยควบคุม แต่หากสร้างเอง ต้องศึกษาระยะร่นต่าง ๆ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ซึ่งในรายละเอียดการก่อสร้างตาม พ.ร.บ จะถูกบังคับปฏิบัติตามกฎกระทรวงโดยแยกใช้ทั้งประเทศ หรือกำหนดเฉพาะพื้นที่ เช่น ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) บังคับใช้ทั้งประเทศ ส่วนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 จะบังคับใช้กับอาคารก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร
ระยะแนวร่นที่บังคับใช้ทั้งประเทศตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)
ข้อ 50 กำหนดไว้ว่า “ผนังของอาคารที่มีหน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสง หรือระเบียงของอาคารต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน ดังนี้
(1) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร
(2) อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544
ข้อ 54 กำหนดไว้ว่า “อาคารด้านชิดที่ดินเอกชน ช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ หรือริมระเบียงสำหรับชั้น 2 ลงมาหรือสูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร และสำหรับชั้น 3 ขึ้นไปหรือสูงเกิน 9 เมตร ต้องห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร” เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเมื่อแยกลำดับการก่อสร้างบ้านออกเป็นช่วง ๆ ทุกการดำเนินการจะถูกครอบด้วยกฎหมายทั้งนั้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานความปลอดภัยทั้งต่อเจ้าของบ้านเอง และ ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้าน ฉบับมือใหม่อยากสร้างบ้าน ที่ริชชี่ เฮ้าส์ นำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์และแนวทางในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะกับบ้านของท่านในอนาคต เรายังมีบทความอีกมากมายเกี่ยวกับการสร้างบ้านมาฝาก จะเป็นเรื่องใดนั้น โปรดติดตามค่ะ
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท ริชชี่ เฮ้าส์ จำกัด
ที่อยู่ : 79/338 ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ : 0-2673-7061-3
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.housemotif.com