บริษัท รับสร้างบ้าน

บริษัทรับสร้างบ้าน รับสร้างบ้าน สร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

เทคนิคสร้างบ้านดี ไม่ทรุด ไม่ร้าว แม้ผ่านไปหลายปี

24
เม.ย.
2563

 

 

หากบ้านสำหรับหลายๆ คน คือสถานที่แห่งความสุข เป็นที่ที่ให้ความปลอดภัยทางกายและความสุขสบายทางใจยามเมื่ออยู่อาศัย แน่นอนว่ากว่าจะได้บ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเจ้าของบ้านควรทำความเข้าใจสาเหตุและปัญหาที่จะทำให้บ้านทรุด บ้านร้าว เพื่อหาแนวทางการป้องกันตั้งแต่เริ่มสร้าง

สาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้บ้านทรุด-ร้าว

1. สภาพดินในพื้นที่สร้างบ้านมีการเคลื่อนตัว

ดินมีหลายประเภทและหลายลักษณะ บางพื้นที่ดินเหนียว มีความอ่อนนุ่ม ยุบตัวง่าย บางพื้นที่ดินมีความแข็งและแน่น และบางพื้นที่อาจมีดินทรายปะปนซึ่งการจับตัวของดินเป็นไปได้ยาก ดังนั้นสภาพพื้นดินจึงมีผลต่อการทรุดร้าวของบ้าน เพราะเมื่อดินมีการเคลื่อนตัวย่อมส่งผลต่อฐานรากของบ้าน

การทรุดของดินมักเกิดขึ้นหลังที่เราสร้างบ้านเสร็จแล้ว โดยอาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น การขุดดินบริเวณข้างเคียง การเกิดน้ำท่วม ทำให้ชั้นดินมีช่องว่างและดินไหลไปตามช่องว่างนั้น หรือการถมดินก่อนสร้างใช้เวลาให้ดินได้เซ็ตตัวไม่มากพอ

2. ระบบฐานรากมีปัญหา

ระบบรากฐานของบ้านเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพิถีพิถันและดูแลในขั้นตอนการสร้างเป็นพิเศษ เพราะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดของบ้านไว้ และสิ่งสำคัญที่จำเป็นต่อระบบฐานรากคือเสาเข็ม ซึ่งปัญหาเสาเข็มในระบบฐานรากที่ก่อให้เกิดปัญหาบ้านทรุด มีดังนี้

• เสาเข็มที่หยั่งลงดินไม่ลึกพอ

การสร้างบ้านที่ดีมีมาตรฐานควรลงเสาเข็มให้ลึกไปถึงชั้นดินแข็ง เพื่อให้มีแรงต้านในการรองรับและพยุงตัวบ้านไว้ หากเสาเข็มสั้นไปอาจอยู่แค่ในระดับดินอ่อน ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตมีโอกาสที่ดินจะยุบตัวและทำให้เสาเข็มทรุดลงไปด้วย ส่งผลให้ฐานรากของบ้านเสียหา

• เสาเข็มมีการแตกหักในชั้นดิน

ไม่ว่าจะในขั้นตอนการขนส่งเสาเข็ม หรือขั้นตอนการตอกเสาเข็ม อาจเป็นต้นเหตุทำให้เสาเข็มแตกร้าวหรือชำรุดโดยที่ทีมก่อสร้างไม่ได้สังเกต กรณีนี้จะส่งผลให้เสาเข็มไม่สามารถรองรับน้ำหนักของตัวบ้านได้เต็มที่ ทำให้เกิดการทรุดเอียง และฐานรากอาจแตกร้าวได้

• ตำแหน่งเสาเข็ม ไม่ตรงกับเสาบ้าน

โดยอาจมีการตอกเสาเข็มผิดตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดการเยื้องกันระหว่างเสาเข็มกับเสาบ้าน และเสาเข็มรองรับน้ำหนักได้ไม่ดี 100%

• ปลายเสาเข็มอยู่บนสภาพดินที่ต่างกัน

บ้านหลังเดียวกัน อาจตั้งอยู่บนพื้นดินที่มีลักษณะต่างกัน เช่น ปลายเสาเข็มต้นหนึ่งอยู่บนดินแข็ง แต่อีกต้นอาจอยู่บนดินอ่อน หากใช้เสาเข็มชนิดเดียวกัน ขนาดเท่ากัน ความยาวเท่ากัน เมื่อพื้นดินบริเวณใดบริเวณหนึ่งยุบตัวจะทำให้บ้านนั้นทรุดและร้าวได้

3. ตัวบ้านมีน้ำหนักมากขึ้น

การออกแบบบ้านนอกจากความสวยงามแล้ว สัดส่วนพื้นที่และน้ำหนักจะถูกคำนวนให้สอดคล้องกับส่วนต่างๆ ของโครงสร้างและฐานรากที่รองรับน้ำหนักบ้าน ดังนั้นหากมีการต่อเติมบ้านภายหลัง โดยไม่ได้คำนวนการรับน้ำหนักบ้านของเสาเข็มเผื่อได้ จะทำให้เกิดการกดทับมากไป และเป็นต้นเหตุให้บ้านทรุด

4. กำลังในการรับน้ำหนักของเสาเข็มไม่เพียงพอ

ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้

• การต่อเติมบ้านภายหลังสร้างเสร็จ เช่น การทำที่จอดรถเพิ่ม การขยายพื้นที่ครัว การทำชายคาเพิ่มเติม

• มีข้าวของเครื่องใช้ที่มีน้ำหนักมากๆ เข้ามาเก็บไว้ในบ้าน

• การคำนวนจำนวนเสาเข็มและการรองรับน้ำหนักผิดพลาดในขั้นตอนการก่อสร้าง กรณีนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างบ้านด้วยตัวเองโดยใช้ช่างทั่วไป หรือออกแบบบ้านเองโดยไม่มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถในการสร้าง 

 

เทคนิคสร้างบ้านดีมีมาตรฐาน ไม่ทรุด ไม่ร้าวในอนาคต

บ้านที่สมาชิกในครอบครัวสามารถอยู่อาศัยกันได้อย่างสุขกาย สบายใจ รู้สึกปลอดภัยทุกช่วงเวลาและไม่สร้างปัญหาในอนาคตนั้น ถือเป็นบ้านที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการทรุด-ร้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านทั้งหลัง จึงต้องหาทางป้องกันตั้งแต่ต้นทางด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้

1. เลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน

โดยบริษัทจะมีความเป็นมืออาชีพ และมีทีมงานที่เชี่ยวชาญในการสร้างบ้าน หากเป็นไปได้ควรเลือกทีมที่มีความถนัดในสไตล์บ้านที่จะสร้างด้วย เพราะบ้านแต่ละสไตล์มีรายละเอียดภายในที่ต่างกัน หากทีมงานมีความถนันในสไตล์นั้นๆ แล้ว นอกจากจะได้บ้านสวย ยังได้บ้านที่ผ่านความพิถีพิถัน และระมัดระวังในจุดที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษมาอย่างดีด้วย

2. วางแผนการสร้างในทุกขั้นตอน

การวางแผนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนจะทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น หากมีปัญหาจะแก้ไขได้ทันท่วงที 

3. หากต้องการต่อเติมบ้าน ควรปรึกษาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้าน หรือการต่อเติมบ้านนั้น ควรทำโดยมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการสร้างอย่างถูกต้องตามหลักการสร้าง และมีมาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการต่อเติมเองโดยใช้ช่างหรือผู้รับเหมาทั่วไป เพราะอาจเกิดความเสียหายกับตัวบ้านและอันตรายได้

4. สืบประวัติพื้นที่หรือเจาะสำรวจดินก่อนสร้าง

ก่อนสร้างบ้านควรมีการสืบประวัติพื้นที่ว่าเคยเป็นอะไรมาก่อน เช่น เคยมีน้ำท่วม หรือเคยเป็นบ่อน้ำ แอ่งน้ำขนาดใหญ่มาก่อน และควรเจาะสำรวจสภาพดินบริเวณที่จะสร้างบ้าน เป็นการเจาะหรือขุดดินเพียงเล็กน้อย เพื่อตรวจชนิดของดิน การเรียงตัวของชั้นดิน ระดับน้ำใต้ดิน และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการคำนวณหาการทรุดตัวของสิ่งก่อสร้าง การออกแบบฐานราก และการใช้เสาเข็มให้เหมาะสมกับพื้นที่

5. มองหาที่ดินสำหรับการสร้างที่เหมาะสม

การสร้างบ้าน หากยังไม่มีที่ดินไว้อยู่แล้ว และสามารถเลือกที่ดินได้ ควรเลือกพื้นที่ที่มีสภาพดินไม่อ่อนยวบ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาดินทรุดง่าย

6. ถมดินในพื้นที่ที่จะก่อสร้างทิ้งไว้นานๆ

โดยปกติอาจใช้เวลา 6-12 เดือน ก่อนสร้างบ้าน เพื่อให้ดินมีการเซ็ตตัว และคงสภาพที่ไม่ต่อให้เกิดการยุบตัวในเวลาอันสั้น แต่ถ้าไม่มีเวลาสำหรับถมดินทิ้งไว้มากนัก อาจใช้รถบดอัดดินช่วยเพื่อร่นระยะเวลาก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคือถมดินทิ้งไว้นานๆ พร้อมกับใช้รถบดอัดดินด้วย  

7. โครงสร้างทุกอย่างให้ใช้ฐานรากเดียวกับบ้าน

โครงสร้างที่จะใช้ฐานรากติดกับบ้าน เช่น ที่จอดรถ ทางเดินรอบบ้าน หรือส่วนที่เป็นโครงสร้างอื่นๆ นอกตัวบ้าน ให้ทำเสาเข็มรองรับทั้งหมด เพื่อไม่ให้ส่วนที่ไม่มีเสาเข็มทรุดตัวตามดิน

8. เว้นช่องแยกโครงสร้างที่ไม่ใช้ฐานรากเดียวกับตัวบ้าน

สำหรับโครงสร้างที่ไม่ได้ใช้ฐานรากเดียวกับบ้าน และไม่มีการตอกเสาเข็มรองรับน้ำหนักไว้ หากจะก่อสร้างควรเว้นช่องแยกจากตัวบ้านชัดเจน ไม่ควรสร้างให้เชื่อมต่อกับตัวบ้าน เพราะหากมีปัญหาการทรุดตัวของดินในบริเวณโครงสร้างที่ไม่ใช้ฐานรากติดกับตัวบ้าน ก็จะเสียหายแค่พื้นที่ส่วนนั้น ไม่ส่งผลกระทบหรือเกิดปัญหากับตัวบ้าน

9. ตรวจเช็กงานสร้างเป็นระยะ

โดยในการสร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้าน นอกจากจะมีมาตรฐานการสร้างที่เชื่อถือได้แล้ว ทีมงานยังมีการรายงานขั้นตอนการก่อสร้างเป็นระยะๆ และเจ้าของบ้านสามารถปรึกษา และเช็กงานได้ตลอดการสร้าง

บ้านทรุด บ้านร้าว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการสร้างเสร็จ ดังนั้นการวางแผนการสร้างที่ดี แบบบ้านมีมาตรฐาน วัสดุที่ใช้มีคุณภาพ ขั้นตอนการสร้างเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และดำเนินการสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

สนับสนุนบทความโดย

 


บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด

ที่อยู่ : 288/18 ถ.พหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220

โทรศัพท์ : 0 2970 3080

เว็บไซต์ : www.emperorhouse.com

อีเมล์ : customerservice@emperorhouse

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

Home Builder Association

เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 : info@hba-th.org

 : 0-2570-0153,0-2940-2744

  : 0-2570-0154