อิฐ ส่วนประกอบหลักของการสร้างบ้าน รากฐานสำคัญที่ทำให้บ้านเป็นรูปเป็นร่าง อิฐมีหลายขนาด หลายประเภทแตกต่างกันตามคุณสมบัติ ซึ่งล้วนมีผลต่อความคงทนแข็งแรง การระบายความร้อน ความชื้นของบ้าน การรับน้ำหนัง การกันไฟ และเวลาในการก่อสร้าง ดังนั้นการเลือกใช้อิฐให้เหมาะกับงานก่อสร้างและความต้องการใช้งานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรรู้เพื่อบอกความต้องการและพูดคุยกับบริษัทรับสร้างบ้านให้เข้าใจตรงกัน
ทำความรู้จักกับอิฐแต่ละประเภท
1. อิฐมอญ
อิฐมอญ หรืออิฐแดง หรืออิฐดินเผา อิฐก่อสร้างยอดนิยม ที่มีส่วนประกอบหลักคือดินเหนียว ทรายหรือขี้แกรบ และน้ำ ผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นจึงนำไปใส่แบบพิมพ์อัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำไปเผาเพื่อให้มีความแข็งแรงและคงรูปร่างไว้ เป็นอิฐที่ถูกใช้นงานก่อสร้างมาหลายสิบปี เพราะคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศในประเทศไทย
การผลิตอิฐมอญมีด้วยกัน 2 แบบคือ
• อิฐมอญตันมือ เป็นการผลิตโดยการอัดดินใส่แม่พิมพ์ ทิ้งไว้จนแห้งแล้วนำไปเผา วิธีนี้อิฐอาจมีขนาดและสัดส่วนไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับรูปแบบและแหล่งผลิต
• อิฐมอญเครื่อง เป็นการผลิตโดยการรีดขึ้นรูป จากนั้นตัดเป็นท่อนๆ แล้วนำไปผ่านกระบวนการอบไล่ความชื้น ก่อนนำไปเผาเพื่อคงรูปและเพิ่มความแข็งแรง ในกระบวนการนี้อิฐจะมีขนาดที่เท่ากัน
โดยทั่วไปอิฐมอญจะขนาดประมาณ กว้างประมาณ 2.5 - 3 ซม. ยาวประมาณ 14 - 16 ซม. และหนาประมาณ 6- 6.5 ซม.
นิยมใช้กับงานก่อสร้างทั่วไป เหมาะสำหรับการใช้วัสดุกรุผนังที่มีน้ำหนักมากๆ สามารถใช้การก่ออิฐโชว์แนว ก่อผนังสไตล์ลอฟท์และวินเทจ หรือตกแต่งสวน
ข้อดีของอิฐมอญ
• สามารถยึดเกาะได้ดี มีความหนาแน่นสูง
• แข็งแรง ทนทานต่อสภาพอากาศในไทย
• หาซื้อได้ง่าย มีราคาไม่แพง
• สามารถทนไฟได้ประมาณ 2 ชั่วโมง
• สามารถรับน้ำหนักได้ 30 กิโลกรัม/1 ตารางเซนติเมตร
• เป็นอิฐที่เกิดจากกระบวนการผลิตด้วยการเผาตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงทำให้มีสีสันที่มีความคลาสสิค เป็นเสน่ห์ที่หลายคนชื่นชอบ
ข้อจำกัดของอิฐมอญ
• ดูดความชื้น
• สะสมความร้อน
• อิฐมอญส่วนใหญ่ผลิตจากชุมชน อาจมีคุณภาพ มาตรฐาน และขนาดไม่สม่ำเสมอ
• มีคุณสมบัติอมความร้อน ส่งผลทำให้บ้านร้อนได้
• มีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาก่อสร้างค่อนข้างนาน และค่าแรงก่อสร้างแพง
• ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการเก็บเสียง
***ปัญหาเรื่องบ้านร้อน หรือปัญหาการเก็บเสียงจากการใช้อิฐมอญ ส่วนใหญ่ทีมสถาปนิกและทีมทำงานที่เชี่ยวชาญจะมีเทคนิคการก่อสร้างที่สามารถแก้ไขได้
2. อิฐบล็อก
อิฐที่ทำจากปูนซีเมนต์และทราย ซึ่งถูกผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่าอิฐมอญ ส่วนใหญ่จะมีสีเทาตามสีของส่วนประกอบที่ใช้ผลิต โดยมีลักษณะเด่นคือมีรูกลวงตรงกลางช่วยให้นำหนักเบาขั้น และช่วยถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ โดยนิยมใช้กับงานก่อสร้างทั่วไป เหมาะสำหรับงานที่เน้นการคุมค่าใช้จ่าย เพราะราคาถูกและใช้เวลาสร้างเร็วกว่าอิฐมอญ
ข้อดีของอิฐบล็อก
• ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะราคาที่ถือว่าถูกที่สุดเมื่อเทียบกับอิฐชนิดอื่นๆ
• ขนาดต่อก้อนใหญ่ จึงสะดวกในการใช้ก่อสร้าง และใช้เวลาไม่นาน
ข้อจำกัดของอิฐบล็อก
• หากฉาบปูนไม่ได้มาตรฐานจะมีโอกาสเกิดปัญหาการรั่วซึมได้สูง
• ความสามารถในการรับแรงกดได้น้อยกว่าอิฐชนิดอื่นๆ
• มีปัญหาเรื่องการเก็บเสียง
• หากมีการเจาะจะทำได้ค่อนข้างยากเพราะเสี่ยงต่อการแตกร้าว
• ไม่เหมาะสำหรับงานเดินท่อไฟ หรือท่อประปาในผนัง
***การใช้งานอิฐบล็อกไม่ควรใช้ในการก่อผนังห้องน้ำ เพราะมีโอกาสรั่วซึมสูง ด้วยเนื้ออิฐบล็อกที่มีรูพรุนมากกว่าอิฐชนิดอื่น รวมทั้งมีคุณสมบัติดูดซับน้ำ รับน้ำหนักได้น้อย ดังนั้นอิฐบล็อกจึงเหมาะกับการก่อสร้างผนังโกดัง โรงงาน ที่ต้องการประหยัดงบประมาณและเวลาก่อสร้าง นอกจากนี้อิฐบล็อกอาจถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างกำแพงหรือการต่อเติมภายนอกบ้าน
3. อิฐมวลเบา
อิฐมวลเบาเป็นอิฐที่มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ มีส่วนประกอบหลักคือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ อะลูมิเนียมที่ใช้ในการก่อฟองอากาศ ยิปซัม ปูนขาว ทรายละเอียด และน้ำ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัยทำให้อิฐแต่ละก้อนมีขนาดมาตรฐาน มีน้ำหนักเบา ช่วยลดการสูญเสียในการก่อสร้าง จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำผนังบ้านที่ต้องการลดน้ำหนักของโครงสร้าง
ขนาดมาตรฐานของอิฐมวลเบาคือ กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนความหนามีหลายระดับตั้งแต่ 7.5 เซนติเมตร ไปจนถึง 20 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
ข้อดีของอิฐมวลเบา
• มีการผลิตจากโรงงานที่มีการควบคุมมาตรฐาน และมีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย จึงมีขนาดได้มาตรฐานเท่ากันทุกก้อน
• สามารถใช้ก่อทั้งแนวดิ่ง และก่อฉากได้ง่าย
• มีน้ำหนักเบา จึงลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้างหลัก
• มีลักษณะเป็นฟองอากาศ จึงเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี และทนไฟได้นานกว่า 4 ชั่วโมง
• ขนาดก้อนใหญ่ ช่วยลดเวลาและค่าแรงในการก่อสร้าง
• สามารถรับน้ำหนักได้ 35 กิโลกรัม/1 ตารางเซนติเมตร
ข้อจำกัดของอิฐมอญ
• อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มหากต้องการใช้อิฐมวลเบาร่วมกับอิฐอื่นๆ เพราะต้องใช้ปูนก่อและฉาบสำหรับอิฐมวลเบาเท่านั้น
• หากจะเจาะแขวนต้องใช้พุกโลหะสำหรับอิฐชนิดนี้เท่านั้น
• ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอิฐมอญและอิฐบล็อก
4. อิฐขาว
อิฐขาวมีส่วนประกอบของปูนขาว และทราย มีการผลิตโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการอัดด้วยเครื่องจักรที่มีความดัน และอบด้วยความร้อนสูง อิฐขาวจึงมีความแน่น แข็งแรง และทนทานมาก เหมาะสำหรับงานก่อสร้างทุกชนิด
ขนาดมาตรฐานของอิฐขาวคือกว้างประมาณ 11 เซนติเมตร ยาวประมาณ 24 เซนติเมตร และหนาประมาณ 6.5 เซนติเมตร
ข้อดีของอิฐขาว
สามารถใช้ปูนก่อ ปูนฉาบ และพุก แบบเดียวกับอิฐมอญได้
มีการผลิตจากโรงงานเหมือนอิฐมวลเบา จึงมีมาตรฐาน ขนาดก้อนเท่ากัน ช่วยให้ง่ายต่อการก่อแนวดิ่งและฉาก
มีความแข็งแกร่ง ทนทานต่อการใช้งาน
ประหยัดเวลาในการก่อสร้างจึงลดค่าแรงงานก่อสร้าง
ทนความร้อนได้ดี โดยสามารถทนไฟได้นานกว่า 4 ชัวโมง
สำหรับการก่อสร้างที่ต้องการโชว์แนวผนัง อิฐขาวถือเป็นทางเลือกที่ดี
ข้อจำกัดของอิฐขาว
• หาซื้อค่อนข้างยาก เพราะร้านไม่ค่อยมีสต๊อกสินค้า ต้องสั่งจากร้านที่ขายหรือโรงงานผลิตโดยตรง
• มีราค่าค่าจัดส่งสูง
• ราคาสูงกว่าอิฐมอญและอิฐบล็อก
ปัจจุบันอิฐถูกนำมาใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เพราะไม่เพียงเป็นแค่วัสดุในการก่อผนัง แต่สถาปนิกยังอาจนำมาใช้เป็นลูกเล่น หรือเพิ่มดีเทลในงานออกแบบ เพื่อให้บ้านมีชีวิตชีวาหรือมีความแตกต่างมากขึ้น แต่ทั้งนี้การเลือกใช้อิฐให้เหมาะกับการก่อสร้างปัจจัยสำคัญที่ควรใช้ประกอบการพิจารณาคือ วัตถุประสงค์การใช้งาน งบประมาณที่ตั้งไว้ เวลาการก่อสร้าง ที่สำคัญคือความต้องการและความชอบของเจ้าของบ้าน
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด
ที่อยู่ : 288/18 ถ.พหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220
โทรศัพท์ : 0 2970 3080
อีเมล์ : customerservice@emperorhouse
เว็บไซต์ : www.emperorhouse.com