หลอดไส้ (Incandescent)
เป็นหลอดแบบดั้งเดิม ราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป ติดตั้งง่าย ใช้กับสวิตช์หรี่ไฟ (dimmer) ได้ หลักการทำงานของหลอดไฟประเภทนี้ คือ พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านขดลวดจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนจนร้อนจัดแล้วจึงเกิดแสงสว่าง แสงที่ได้เป็นสีส้มแดง เป็นหลอดที่ใช้พลังงานมากและสูญเสียพลังงานไปกับการทำความร้อนของขดลวดมากถึง 90% และยังคายความร้อนออกมาในขณะใช้งาน อายุการใช้งานสั้น และเสื่อมสภาพเร็ว มีทั้งแบบใสและฝ้า มีหลายรูปทรง เช่น ทรงกลม ทรงเปลวเทียน
หลอดฮาโลเจน (Halogen)
หลอดฮาโลเจนจะมีกระเปาะบรรจุไส้หลอดและก๊าซเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหลอดไฟ มีหลากหลายสีและรูปทรง สามารถใช้งานร่วมกับสวิตช์หรี่ไฟ มักจะใช้สำหรับงานตกแต่งหรือเป็นไฟส่องเฉพาะจุด ใช้พลังงานมากแต่น้อยกว่าหลอดไส้ และยังเกิดความร้อนสูงบริเวณหลอดเมื่อเปิดใช้งาน
รูป : www.gelighting.com
หลอดฟลูออเรสเซนต์ (FL)
เป็นหลอดที่มีประสิทธิภาพแสงและอายุการใช้งานมากกว่า หลอดไส้ มีกระบวนการให้แสงสว่างคือส่งผ่านประจุอิเล็คตรอนซึ่งเกิดจากขั้วลบผ่านสารเรืองแสงที่ใช้เคลือบหลอดไฟไปยังขั้วบวก โทนสีของหลอดมี 3 แบบ คือ Warm white, Cool white และ Day light ชนิดของหลอดที่ใช้งานกันทั่วไปจะเป็นแบบหลอดยาว (Linear) และแบบวงแหวน (Circular) เหมาะกับการนำไปใช้ให้แสงสว่างทั่วไปในอาคาร และนอกอาคารเป็นบางแห่ง
หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL)
หลอด CFL พัฒนามาแทนที่หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเดิม มีขนาดกะทัดรัดและใช้กระแสไฟฟ้าน้อยกว่า ใช้พลังงานประมาณหนึ่งในสามของหลอดฮาโลเจน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของหลอดไส้ อายุการใช้งานนานกว่า 10 เท่าแต่ให้ปริมาณความสว่างเท่ากัน (หลอด CFL 22 วัตต์ให้ความสว่างเท่ากับหลอดไส้ 100 วัตต์ และใช้พลังงานน้อยกว่า 50-80% ) หลอด CFL อาจจะมีราคาแพงกว่าแต่ในระยะยาวจะช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ให้แสงที่อบอุ่นและไม่กะพริบ โทนสีของหลอดมี 3 แบบ คือ Warm white, Cool white และ Day light เช่นเดียวกันกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีรูปแบบให้เลือกใช้งานหลากหลาย ได้แก่ แบบหลอดกลม หลอดเกลียว หลอดตะเกียบแบบ 2 หลอด 4 หลอด 6 หลอด มีทั้งแบบหลอดแยกกับบัลลาสต์และหลอดรวมกับบัลลาสต์ซึ่งจะสะดวกในการใช้งาน บางรุ่นสามารถใช้ร่วมกับสวิตช์หรี่ไฟได้
รูป : www.greenfuture.io
ข้อจำกัดการใช้หลอด CFL
- มีความไวตอการปดเปดซึ่งจะทาให้อายุการใช้งานสั้นลง ดังนั้นในบริเวณที่ต้องเปิดปิดไฟบ่อยๆ อาจเปลี่ยนไปใช้หลอด LED แทน
- ไม่ควรใช้หลอด CFL แบบปกติกับสวิตช์หรี่ไฟเพราะจะทำให้อายุการใช้งานของหลอดลดลง
- หลอด CFL มีการกระจายแสงกว้างเหมาะกับการส่องสว่างพื้นที่ใหญ่มากกว่าการส่องพื้นที่เฉพาะจุดแบบไฟสปอตไลท์
- สิ่งที่ต้องพึงระวังคือหลอด CFL มีปรอทซึ่งเป็นโลหะที่เป็นพิษอยู่ภายในหลอดซึ่งจะปล่อยออกมาเมื่อหลอดแตก จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการกำจัดเมื่อหมดอายุการใช้งาน
หลอด LED
หลอด LED เป็นประเภทของไฟแบบ solid-state ที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นแสงสว่าง หลอด LED ที่ให้แสงสีขาวเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้พลังงานเพียง 20-25% และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกับหลอดไส้ หรือใช้พลังงาน 25-30% และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 8-25 เท่าเมื่อเทียบกับหลอดฮาโลเจน หลอด LED เป็นหลอดที่ไม่มีความร้อนจึงไม่เพิ่มภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ มีอายุการใช้งานนาน แข็งแรงทนทานและปราศจากสารปรอท
การนำไปใช้งานมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบหลอดกลม หลอดยาว หลอดขด หรือเป็นเส้น ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือหลอดแบบใสหรือสีขาว ให้แสงสีขาวแบบเย็นหรืออุ่น แต่หลอด LED ยังมีอีกหลายสี เช่น สีแดงจะเหมาะกับวิสัยทัศน์ตอนกลางคืน ไฟหน้ารถยนต์และไฟฉาย LED บางรุ่นมีตัวเลือกในการเปลี่ยนไปใช้แสงสีแดงเพื่อใช้ในเวลากลางคืน สีฟ้าเป็นสีที่สบายสายตา เป็นแสงอ่านหนังสือที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ สามารถอ่านหนังสือภายใต้แสงสีฟ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่มีอาการปวดตาเหมือนหลอดชนิดอื่น สีขาวเป็นสีที่นิยมมากที่สุด ได้แสงสีขาวนุ่มนวลโดยไม่มีแสงสะท้อนหรือเงาที่รุนแรง
สีเหลืองแอมเบอร์จะไม่ดึงดูดแมลง จึงสามารถใช้บริเวณกลางแจ้ง เช่น ลานบ้านและดาดฟ้า หลอดบางรุ่นสามารถใช้ร่วมกับสวิตช์หรี่ไฟได้ สามารถใช้ร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงอาทิตย์และตรวจจับความเคลื่อนไหวเมื่อใช้งานภายนอกอาคาร หลอด LED ใช้งานได้ดีทั้งภายในและภายนอกอาคารเนื่องมีความทนทานทุกสภาพแวดล้อม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันหลอด LED จะมีราคาแพงกว่าหลอดชนิดอื่น แต่จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นอย่างดีเพราะมีอายุการใช้งานยาวนานและใช้พลังงานน้อยมาก คาดว่าในอนาคตเมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้นราคาจะลดลง
รูป : www.greenfuture.io
ระบบแสงสว่างภายในของบ้าน นอกจากจะส่งผลต่อความรู้สึกทั้งทางร่างกายและอารมณ์ของผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังใช้พลังงานในปริมาณมากและเป็นแหล่งความร้อนภายในบ้านที่สำคัญ ดังนั้นการเลือกใช้ระบบไฟส่องสว่างที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้หลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน หลอดที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ราคาไม่แพงมากและใช้พลังงานน้อย การใช้ระบบควบคุมไฟฟ้าส่องสว่างภายในบ้านเพื่อจัดการการใช้งาน หรือการใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงประดิษฐ์ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ขณะที่ได้แสงสว่างที่มีคุณภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในบ้าน และช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้อาศัย
โครงการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน